svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เปิดสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่า 2 เดือนต่อเนื่อง

03 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอธุยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-36.30  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนติดตามตัวเลขภาคบริการและการจ้างงานเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ เงินเฟ้อของไทย เปิดสถิติเดือนก.พ.เงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาคเกิดจากอะไร

เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แกว่งตัวในกรอบแคบต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าทะลุแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ ช่วงสั้น ๆ ของนักลงทุนก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐ

สำหรับสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอย่างไรและมีปัจจัยบวกลบอะไรบ้างที่ต้องติดตาม   Nation STORY ได้สัมภาษณ์กูรูทางด้านตลาดเงิน โดยมีมุมมองดังนี้

เริ่มจาก น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-36.30  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ    นักลงทุนติดตามตัวเลขภาคบริการและการจ้างงานเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ คาดว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.9 แสนตำแหน่ง  รวมถึงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟดเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะคงดอกเบี้ยที่ 4.0% โดยตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่ท่าทีของอีซีบีเพื่อประเมินจังหวะเวลาการลดดอกเบี้ยต่อไปส่วนปัจจัยในประเทศ คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคิดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้ปรับทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดสมเหตุสมผลมากขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์อาจพักฐานในระยะนี้

เปิดสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่า 2 เดือนต่อเนื่อง

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า สกุลเงินส่วนใหญ่อ่อนค่า นำโดย บาท-ไทย 1.1%  รองลงมาเป็นดอลลาร์-ไต้หวัน  0.92% ดอง-เวียดนาม 0.90% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.36% %  หยวน-จีน 0.27%   ริงกิต-มาเล เซีย 0.21 %  ยกเว้น รูปี-อินเดียแข็งค่า 0.41% วอน-เกาหลีใต้ 0.24%  เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.16% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.15%

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในกลุ่มเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันเกิดจาก

-  แรงกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯที่สูงขึ้น หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง -  แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง

-  การเหวี่ยงตัวของราคาทองคำในตลาดโลกสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาท

-  เดือนก.พ.นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตร 1.81 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2.9 พันล้านบาท  

เปิดสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่า 2 เดือนต่อเนื่อง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation STORY ว่า  ปัจจัยกดดันการอ่อนค่าสำคัญ คือ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้

ซึ่งจากตอนต้นปี ตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว 7 ครั้งในปีนี้ โดย ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็ง แกร่ง กอปรกับท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็ทำให้ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง 3 ครั้ง ในปีนี้ ตามที่เฟดได้ประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนธันวาคม ปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นตัวได้แย่กว่าคาดไปมาก จากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง จนทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่สามารถขยายตัวได้ดีอย่างที่ตลาดเคยประเมินไว้ จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด

ขณะที่ ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของธปท. จากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกับ คณะกรรมการนโยบายการเงินส่วนใหญ่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยข้างต้น เงินบาทยังมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงไปตาม แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และความกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้

นอกจากนี้การปรับฐานของราคาทองคำนับจากช่วงต้นปี จากความกังวลว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ก็มีส่วนกดดันเงินบาท ผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานของผู้เล่นในตลาด

สำหรับเงินบาทสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวที่ 35.50 - 36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways down โดยมีโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นแนวต้าน ส่วนแนวรับยังคงเป็นโซน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนกว่าเงินบาทจะมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน ซึ่งอาจต้องรอลุ้น รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ และหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าว ก็อาจแข็งค่าต่อทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้น นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งตลาดจะรับรู้ก่อนรายงานข้อมูลการจ้างงาน ก็อาจย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ โดยต้องจับตาไฮไลท์สำคัญ อย่าง ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส

นอกจากนี้ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้ได้ โดยเงินหยวนจีนอาจผันผวนไปตามภาวะตลาดการเงินจีนและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นก็จะขึ้นกับมุมมองตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นหลัก


ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท 

ในส่วนของปัจจัยภายนอกนั้น เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจผันผวนไปตามบรรยากาศในตลาดการเงิน รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินหยวนจีน และเงินเยนญี่ปุ่น

สำหรับปัจจัยในประเทศ ควรรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างยังเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย

ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด

ยุโรป ควรรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ ECB 

ส่วนเอเชีย ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนผ่าน รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดโดย Caixin ที่จะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรดาบริษัทขนาดเล็ก กลาง เป็นส่วนใหญ่

สำหรับไทย  ควรรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกุมภาพันธ์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

 

 

 

logoline