จากกรณีการแสดงวิสัยทัศน์กล่าวหา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" เป็นอุปสรรคการพัฒนาเศรษฐกิจ ของ "อุ๊งอิ๊งค์" นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บนเวที '"10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10"' ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงวิสัยทัศน์ของนางสาวแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย
ต่อมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "Phumtham Wechayachai" ระบุว่า แบงก์ชาติ ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ประชาชนจะกล่าวถึง วิพากษ์ วิจารณ์ หรือแตะต้องไม่ได้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า "อุ๊งอิ๊งค์" กำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา (อ่านโพสต์เต็มๆ >>ที่นี่<<)
Nation STORY ชวนมาทำความรู้จัก "แบงก์ชาติ" มีบทบาทหน้าที่อะไร พร้อมเปิด 12 เรื่อง ที่จะทำให้คุณรู้จักองค์กรนี้มากยิ่งขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
หน้าที่หลักของแบงก์ชาติ
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึง การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้
กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
หน้าที่ของธนาคารกลางทุกแห่งคือ การกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้
รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
การรักษาความมั่นคงของระบบการเงินเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางใน การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจึงมีความสำคัญ เพราะหากขาดเสถียรภาพอาจสามารถลุกลามเป็นวิกฤตการเงิน (financial crisis) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน
กำกับระบบสถาบันการเงิน
กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และนโยบาย หลักเกณฑ์ รวมถึงกำกับตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ ฐานะมั่นคง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ
บทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติคล้ายกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เสถียรภาพภายในประเทศ
เสถียรภาพด้านต่างประเทศ
12 เรื่อง ที่จะทำให้คุณรู้จักแบงก์ชาติมากขึ้น
1.ดูแลเงินเฟ้อและกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย รักษาเสถียรภาพราคาไม่ให้ผันผวนโดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ให้เอื้อต่อการออมและการลงทุนของประชาชน และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
2.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาท แบงก์ชาติจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากหรือเร็วเกินไป จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
3.ดูแลสภาพคล่องและความผันผวนในตลาดการเงิน เพื่อดูแลรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปตามที่กำหนด ไม่ให้เกิดภาวะสภาพคล่องตึง หรือขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินสูงหรือต่ำเกินไป
4.บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ดูแลให้มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจและช่วยรองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ
5.ดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มั่นคงมีประสิทธิภาพ ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
6.พัฒนาระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน พัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงิน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ
7.เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ให้คำปรึกษานโยบายเศรษฐกิจการเงินแก่รัฐบาล และเป็นตัวแทนประเทศประชุมกับองค์กรระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ
8.เป็นนายธนาคารของรัฐบาล และสถาบันการเงิน เก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ของรัฐบาล ให้กู้ยืมเงินและความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงิน
9.ดูแลติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค มีสำนักงานภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของภาคเศรษฐกิจได้อย่างครบถ้วน และให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในภูมิภาค
10.ผลิตธนบัตรอย่างมีคุณภาพ ออกใช้ธนบัตรเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และพัฒนาเทคนิคใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้ธนบัตรปลอมแปลงได้ยากและมีความทนทาน
11.ที่ปรึกษาด้านการเงินของประชาชน มีศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ให้ความรู้ทางการเงิน และรับเรื่องร้องเรียน และข้อสอบถามผ่าน call center 1213
12.แหล่งเรียนรู้ด้านเงินตรา มีศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์สำนักงานภาค และห้องสมุดส่วนภูมิภาคที่เปิดให้เข้าได้ฟรี
นี่ก็เป็นเรื่องราวของแบงก์ชาติ ที่ Nation STORY นำมาเล่าให้อ่านกันในวันนี้ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะรู้จักองค์กรนี้มากขึ้นนะ...
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทวิตเตอร์ (X) Bank of Thailand