นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ มีทั้งการเจรจายืดหนี้และลดดอกเบี้ยให้สามารถอยู่ต่อไปได้ ที่ผ่านมาก็ทำในเรื่องแบบนี้ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่งการดำเนินต่อไปอาจไม่คุ้มเพราะบางคนไม่สามารถที่จะทำได้ มีเงื่อนไขมากหรือว่าบางคนอาจจะติดเงื่อนไขพอมีหนี้อยู่หลายสถาบันการเงินก็ต้องหาแนวทางที่จะแก้หนี้แบบใหม่ ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อต่างๆของสถาบันการเงินก็จะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ
“แนวทางนี้ก็คือการแก้ปัญหาแบบที่เคยเกิดขึ้นสมัยหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งก็ต้องมีการแยกบัญชีระหว่างหนี้ที่ดีและหนี้เสียออกมาดำเนินการในลักษณะแบบนี้ โดยอาจจะมีการตั้งหน่วยบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในลักษณะแบบนี้ ซึ่งการทำเราก็ต้องทำร่วมกับสถาบันการเงินเพราะสถาบันการเงินนั้นเป็นเจ้าของหนี้ในขณะเดียวกันก็ทำร่วมกันกับรัฐเพราะเราจะเป็นคนช่วยในการบริหารรวมทั้งอาจจะมีเอกชนบางส่วนที่มีความสนใจจะเข้ามาบริหารในส่วนนี้ วิธีคิดคือเอาออกมาดูเลยแยกออกมาดูว่าจะทำยังไงซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการเคลียร์กันนานแต่ก็เคลียร์กันอยู่นอกธนาคารแล้วเรื่องพวกนี้ผมคิดอยู่หมดแล้วว่ามันมีกี่วิธีก็ต้องดูว่าวิธีไหนจะเริ่มก่อนหลัง“
นายพิชัย กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ก็ต้องดูข้อมูลทั้งหมดและจะได้รับความฟังความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่ายซึ่งจะได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยในเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องนี้จะใช้เงินงบประมาณหรือไม่อันนี้ยังไม่ทราบต้องขอดูในรายละเอียดก่อน คงแล้วแต่เงื่อนไข
เมื่อถามว่าจะดำเนินการเฉพาะหนี้เสียหรือ NPL ใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า หนี้ดี ๆ จะเอาเข้ามาทำไม โดยยอดหนี้ตอนนี้มีอยู่หลายล้านบัญชี ส่วนจะเป็นหนี้ประเภทไหน หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ส่วนบุคคลนั้น ขอดูรายละเอียดก่อน เมื่อถามว่า ใช่การแฮร์คัตหนี้ให้ประชาชนหรือไม่ นั้นนายพิชัยตอบว่า ในเรื่องวิธีการนั้นเราต้องดูก่อน มีคนหลายฝ่าย เราไปตัดสินใจแบบนั้นไม่ได้หรอกว่าจะแฮร์คัตหรือไม่แฮร์คัต และ รัฐบาลไม่ได้รับภาระหนี้ และจะไม่ใช่การใช้งบประมาณ
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้จะช่วยให้คนที่เป็นหนี้เสียมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นกลไกให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ส่วนคนที่เป็นจ่ายหนี้ปกติ เป็นหนี้ดี อย่าไปคิดว่ารัฐบาลไม่ดูแลคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดีเพราะท่านมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่าและได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอยู่แล้ว ตามการจัดชั้นหนี้
ขณะนี้ทิศทางเรื่องของหนี้เสีย (NPL) ดีขึ้นมากตัวเลขทรงตัว แต่ยังไม่มีมาตรการที่จะดึงคนที่เป็น NPL ออกมาจากการเป็น NPL ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียหายไปแล้วก็ต้องหากลไกที่จะให้กลับมาให้เป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่ทำการผลิตได้ต่อ
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เป็นการแฮร์คัตหนี้หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การแฮร์คัตหนี้เพราะมีการไปซื้อหนี้ออกมาจากสถาบันการเงินซึ่งการจะใช้เงินของรัฐและเอกชนนั้นทำได้ 2 แบบ ซึ่งก็เหมือนกับการที่ ก่อนหน้านี้ที่ธนาคารออมสินเคยทำ JV AMC (บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Joint VentureAsset Management Company:JV AMC) )ขึ้นมาแต่เป็นการดูแลหนี้ของภาคธุรกิจ โดยในส่วนนี้ที่รัฐบาลจะทำใหม่ก็คือการทำให้มีโครงสร้างที่ลงไปถึงระดับประชาชนรากหญ้าได้
นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า ขณะนี้ ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี แต่การแก้หนี้ที่มีความยั่งยืนได้ มองว่าต้องมาจากการเพิ่มรายได้ และเพิ่มความสามารถในการก่อหนี้ โดยต้องควบคู่กับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย
ทั้งนี้ แนวคิดในการรับซื้อหนี้ประชาชน ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะสรุป เพราะยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ อาจทำให้เกิด Moral Hazard และต้องเป็นมาตรการที่ให้การยื้อเวลาหนี้ออกไปสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า ปัญหาวันนี้ต่างกับปี 40 แต่ท้าทายกว่า เนื่องจากเป็นลูกหนี้บุคคลที่มีจำนวนรายค่อนข้างมาก ต่างจากอดีต และที่เป็นการแก้หนี้ของธุรกิจที่มีจำนวนรายมากกว่า