จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยประกาศบนเวทีพบปะคนเสื้อแดงที่จังหวัดพิษณุโลก ด้วยการซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคารทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการผ่านบริษัทหรือหน่วยงานเฉพาะกิจ โดยจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล แต่จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนแทน แล้วให้ประชาชนผ่อนชำระในจำนวนที่น้อยลง จนปลดหนี้ได้สำเร็จ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ต้องติดเครดิตบูโรนั้น
รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถือเป็นมาตรการใหญ่ที่จะส่งกระทบต่อโครงสร้างหนี้ของประเทศไทยโดยตรง โดยข้อมูลปี 2566 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 15.54 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย หรือ NPL ราว 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.2 แสนล้านบาท
แนวทางการให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC เข้ามารับซื้อ NPL จากธนาคารและสถาบันการเงินแทนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ และมีความเหมาะสมในเชิงนโยบาย รวมทั้งเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกกลาง กำกับดูแล และสร้างกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้เป็นลูกหนี้ พร้อมกำหนดมาตรการคุ้มครอง เช่น การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ลดดอกเบี้ย ลดภาระหนี้จริง และ กำกับให้ AMC ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
แต่นโยบายซื้อหนี้ก็เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ด้วยเช่นกัน กล่าวคือหากดำเนินการได้ถูกทาง ก็จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้จริง จะช่วยลดภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การช่วยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้
แต่อีกด้านหนึ่ง หากรัฐบาลแก้เฉพาะหนี้ โดยไม่แก้ไขพฤติกรรมทางการเงินของประชาชนด้วย เราก็จะเห็นปัญหาเดิมกลับมา นั่นคือพักหนี้-รีไฟแนนซ์แล้วก็จะกลับมาเป็นหนี้อีก ตรงนี้จะกลายเป็นกับดักหนี้ซ้ำซาก ซึ่งตัวอย่างจากหลายประเทศชัดเจนว่ามาตรการแบบนี้ ถ้าไม่มีวินัยทางการเงินคู่ขนานด้วยแล้ว ก็จะล้มเหลว เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือคลินิกแก้หนี้ที่ช่วยได้แค่ 3.2 ล้านคน จากจำนวนคนไทยที่เป็นหนี้กว่า 25.5 ล้านคน
รศ.ดร.วิชัย เสนอว่า รัฐบาลควรจัดทำมาตรการแบบเฉพาะเจาะจง โดยเลือกช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ไม่ควรหว่านไปทั่วทั้งประเทศ เช่น ใช้เฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ต่ำ และมีหนี้จำนวนต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยจัดตั้ง AMC เป็นหน่วยงานกลาง ตามที่อดีตนายกฯ ทักษิณ นำเสนอไอเดีย เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารหนี้อย่างมืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรจะต้องดำเนินการควบคู่กับการฟื้นฟูรายได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพด้วย
ตัวอย่างประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ประสบความสำเร็จ และใกล้เคียงกับไอเดียที่เสนอมากที่สุด คือ ประเทศไอซ์แลนด์ โดยในช่วงหลังวิกฤตปี 2008 มีการดำเนินนโยบายตัดหนี้ให้ประชาชนโดยตรง ผ่านการใช้งบประมาณ 10% ของ GDP ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในประเทศลดลง 30% และ GDP ก็กลับมาโตเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป แต่ย้ำว่าต้องออกแบบระบบให้ดี และมีความโปร่งใสอย่างแท้จริงเท่านั้น