คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดจะประชุมครั้งแรกของปีในวันที่ 26 ก.พ.2568 โดยเริ่มมีข้อเสนอจากรัฐบาล และภาคเอกชนที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุม กนง.วันพุธที่ 26 ก.พ. 2568 ว่า ทุกประเทศตอนนี้เรื่องของการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของการพิจารณาจากเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของประเทศไทยถือว่าต่ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากเงินเฟ้อลงแล้วสามารถเพิ่มความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้บ้างก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วนั้นตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.5% แต่ว่าใน 2 ไตรมาสแรกของปีนั้น ทำอะไรไม่ได้ เมื่อมาดูว่าการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นในไตรมาส 3-4 ของปีเป็นเท่าไหร่ แล้วเราทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ ในเรื่องการลดดอกเบี้ยลงนอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจยังช่วยเศรษฐกิจไทยได้ในเรื่องของการส่งออกเนื่องจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะเป็นประโยชน์กับประเทศส่งออก โดยขณะนี้ประเทศนั้นค่าเงิน ถือว่ายังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูย้อนหลังไปก็จะเห็นว่าแนวโน้มค่าเงินของเราแข็งขึ้น ซึ่งค่าของเงินเป็นผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ และเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขัน
“เรื่องนี้ในตอนที่เดินทางไปต่างประเทศ ล่าสุดไปประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการหารือกับรัฐบาลของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ซึ่งญี่ปุ่นก็บอกว่าเขาเป็นประเทศส่งออกค่าเงินก็เคยแข็งค่าอยู่นานก็อ่อนค่าลง ก็ได้ประโยชน์จากการส่งออก แต่ว่าในเรื่องของการนำเข้า ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ว่าเศรษฐกิจของเขาก็ฟื้นขึ้นมาได้ ตอนนี้ถ้ามองเรื่องอะไรต้องไม่มองด้านเดียว ต้องมองว่าทำอย่างไรให้มีเงินหมุนเวียนและเหมาะสมกับสถานการณ์” นายพิชัย กล่าว
นอกจากนั้น ในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ มีการปล่อยกู้โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี ปัจจุบันในเรื่องนี้มีการกระเตื้องขึ้น ในทางเศรษฐกิจก็น่าจะมีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนั้น เรื่องอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เรื่องนี้ตนเองพยายามพูดเช่นกัน ให้มีการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งคิดว่าเรื่องเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีข้อมูลเหล่านี้หมดแล้ว น่าจะมีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณาด้วย
นายพิชัย กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ ธปท.และสถาบันการเงินเพิ่มเติม เรื่องการเพิ่มมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และการปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีบางเรื่องที่สามารถปรับโครงสร้างได้อัตโนมัติ ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงานที่สำคัญของรัฐบาล
“เรื่องของการแก้หนี้มีอยู่หลายล้านบัญชี ซึ่งขณะนี้ต้องดูว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ อาจเป็นการลดเลยได้หรือไม่ เพราะลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยมากๆ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร การปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนนี้เป็นเรื่องวิธีการในการจะปรับแต่หลักการยังเหมือนเดิม” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวถึงความคืบหน้าการออกมาตรการ เพื่อสนับสนุนตลาดทุนว่าในเดือน มี.ค.นี้ จะมีการออกกองทุนใหม่ที่จะให้มีการโยกกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (LTF) มาอยู่ในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งทำงานและจะออกมาได้โดยเร็วซึ่งมีการพูดคุยกันในหลักการหมดแล้ว
สำหรับการหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) นั้นได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งการรับฟังข้อมูลจาก FETCO ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะ FETCO มีสมาชิกอยู่จำนวนมากในวงการตลาดทุนทำให้มีข้อมูลที่จะคุยกันได้อย่างรอบด้าน
“เราก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะอยากรู้ว่ามาตรการที่เรามีการทำไปหลายเรื่อง มีผลการตอบรับอย่างไรซึ่งจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่เป็นระยะ” นายพิชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ต้องมีมาตรการจูงใจอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่าในเรื่องของตลาดหุ้นเราก็ทำไปหลายมาตรการแล้ว สุดท้ายแล้วก็จะกลับมาที่เรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งก็เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเราด้วยว่าเป็นอย่างไร