นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ ซึ่งตนได้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้เร่งเดินหน้าเจรจาความตกลงฯ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ EU ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ที่ให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดต่างประเทศ และมุ่งผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งเร่งรัดสรุปผลการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อดึงดูดการลงทุนและขยายการค้าของไทยออกสู่ตลาดโลก
นางสาวโชติมา กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ ในภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยข้อบทมีความคืบหน้าในทุกเรื่องและสามารถสรุปได้แล้ว 2 บท ได้แก่ บทแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ (Good Regulatory Practices) อาทิ การเผยแพร่และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ และบทความโปร่งใส (Transparency) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความโปร่งใสในกฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแนวทาง (modalities) และกรอบเวลาการยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างกันแล้ว รวมถึงได้วางแผนการจัดประชุมระหว่างรอบในรูปแบบออนไลน์ของทุกกลุ่ม เพื่อให้การเจรจารอบที่ 5 มีความคืบหน้ามากที่สุดและสามารถสรุปการเจรจาเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
สำหรับในช่วงการเจรจารอบที่ 4 กรมยังได้จัดงานสัมมนาในประเด็นสินค้าที่ใช้แล้วนำมาปรับปรุงคุณภาพให้เหมือนของใหม่ (Remanufactured goods) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก EU ร่วมเป็นวิทยากร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะเจรจา FTA ของทั้งสองฝ่ายยังได้เข้าร่วมงานเสวนา Progress and Prospects in the EU-Thailand Free Trade Agreement Negotiations ที่จัดโดยสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าการเจรจา ประโยชน์และโอกาสของภาคธุรกิจสองฝ่ายจาก FTA ผ่านมุมมองของฝ่ายไทยและ EU ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว มีบริษัทต่างๆ ของ EU ที่ลงทุนในไทย และผู้แทนภาคเอกชนไทย อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นอีกด้วย
ทั้งนี้ EU เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 41,713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.75 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 21,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.68 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.55 สำหรับในช่วง 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 36,425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 20,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.28 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 16,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.99