นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ระบุ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานการผลิตรถยนต์เดือน ต.ค.2567 พบว่าการผลิตรถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) มียอดผลิต 1.24 ล้านคัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 19.28%
ส.อ.ท.ลดประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน โดยปรับลดผลิตขายในประเทศจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1.15 ล้านคัน เป็น 1.05 ล้านคัน
ทั้งนี้ ได้ลดยอดผลิตเป็นครั้งที่ 2 จากรอบแรกปรับไป 200,000 คัน เท่ากับปีนี้ลดลงถึง 400,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านบาท จากเป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เพราะยอดขายในประเทศลดลงจากการเข้มงวดให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ซึ่งยอดการผลิตดังกล่าวต่ำสุดใน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.6 ล้านคัน
นอกจากนี้การส่งออกลดลงทุกตลาดจากผลกระทบสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่อาจกระทบส่งออกตลาดดังกล่าว โดยต้องจับตาตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรปเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องติดตามผลกระทบเศรษฐกิจโลกจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจขยายประเทศอื่น ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์รถยนต์ไทยค่อนข้างสาหัส
“ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ลดลงมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือน ก.ค.2567 ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปีนี้ แค่ 2.3% และคาดว่า 2567 จะเติบโตแค่ 2.7-2.8%”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ยอดผลิตที่ลดลงกระทบเป็นซัพพลายเชนเพิ่มขึ้นจากเดิมลดเวลาการทำงานเหลือ 3 วัน/สัปดาห์ อาจลดเหลือ 2 วัน/สัปดาห์
ส่วนเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาวก็อาจจะถึงขั้นหยุดกิจการชั่วคราวเหมือนเช่นที่ผ่านมา และอีกประเด็นที่ต้องจับตาดูงานมอเตอร์โชว์ที่ใกล้จะถึง โดยยอดจองยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเกือบ 40% ของจองในงาน ซึ่งต้องดูว่าปีนี้จะมากกว่าหรือไม่
“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อกลุ่มผู้ใช้รถกระบะที่ยอดผลิตลดลง 40% มากสุดในกลุ่ม ที่ส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนในไทยถึง 80-90% หากมีมาตรการสนับสนุนที่ดีจะทำให้กลุ่มนี้ต้องการรถมาทำมาหากินมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รัฐเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้สัดส่วน GDP เพิ่มมากขึ้น หนี้ครัวเรือนจะได้ลดลงอย่างยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าว
นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ออร์เดอร์ยอดขายชิ้นส่วนลดลง 30% ตั้งแต่ต้นปี โดยการลดกำลังการผลิตกระทบการทำงานล่วงเวลา (โอที) โดยบางบริษัทยกเลิกโอทีและบางบริษัทเพิ่มวันหยุดจาก 2 วันเป็น 3 วันต่อสัปดาห์
รวมทั้งบางบริษัทลดเวลาทำงานและเริ่มโครงการจ่ายเงินเดือน 75% ของเงินเดือนทั้งหมด ซึ่งกลับไปเหมือนช่วงวิกฤติโควิด-19 และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่กระทบภาคการผลิต แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เพราะช่วงโควิดและน้ำท่วมเป็น Short term อีกทั้งภาครัฐสนับสนุนเยียวยาแต่เหตุการณ์นี้ไม่มี
"ทุกคนหวังว่าไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นโดยมาจากปัจจัยงบประมาณภาครัฐ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่เป็น High Season แต่ยอดผลิตรถก็ยังไม่เพิ่มขึ้น บริษัทผู้ผลิตจะต้องบาลานซ์กำลังคนกับยอดที่หายไปด้วยเช่นกัน จึงน่าเป็นห่วงกลุ่มเอสเอ็มอีถึง 70-80% ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องบริหารจัดการองค์กรโดยเฉพาะเงินหมุนเวียน ถือเป็นจุดน่าเป็นห่วง”
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2567 มีจำนวน 1.24 ล้านคัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 19.28% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 384,952 คัน และผลิตเพื่อส่งออก 861,916 คัน
สำหรับยอดขายรถยนต์เดือน ต.ค.2567 มีจำนวน 37,691 คัน ลดลงจากเดือน ก.ย.2567 ที่ 36.08% ต่ำสุดรอบ 54 เดือนนับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาดโรคหวัด-19 เมื่อเดือน พ.ค.2563 จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินเป็นหลัก
ทั้งนี้ ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ไตรมาส 3 มี 6.36 ล้านบัญชี ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 199,655 บัญชี หรือลดลง 3.0% จำนวนเงินหนี้รถยนต์ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.46 ล้านล้านบาท ลดลงช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 5.8% โดยรถบรรทุกลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอเติบโตอัตราต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง