svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เงินบาท 'อ่อนค่าลงหนัก' เปิดเช้านี้ 34.30 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.95-34.65 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.45 บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.02-34.34 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนพฤศจิกายน และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาว (5-year Inflation Expectations) ซึ่งออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน ใช้จังหวะที่ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงปรับฐาน ทยอยซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทด้วยเช่นกัน  

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมาก หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจเป็นกรณี Republican Trifecta หรือ Red Sweep

สำหรับสัปดาห์นี้ ประเมินว่าควรจับตาการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB)

เงินบาท \'อ่อนค่าลงหนัก\' เปิดเช้านี้ 34.30 บาท/ดอลลาร์

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪    ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุด แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะมองว่า เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายนได้ สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ให้โอกาสราว 23% ที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง ตั้งแต่การประชุมเดือนธันวาคม 2024 ถึง ธันวาคม 2025 น้อยกว่าที่เฟดประเมินไว้ 5 ครั้ง และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นขนาดเล็ก-กลาง (Mid-Small Cap.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจและมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

▪    ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษ ในไตรมาสที่ 3 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOE อาจยังไม่รีบเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อและมีโอกาสเพียง 24% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB 

เงินบาท \'อ่อนค่าลงหนัก\' เปิดเช้านี้ 34.30 บาท/ดอลลาร์

▪    ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคม เป็นต้น ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งอาจช่วยสะท้อนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เริ่มดำเนินไปนั้น จะสามารถช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ของจีน อาทิ Alibaba, JD.com และ Bilibili เป็นต้น ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3  

▪    ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง (สัปดาห์ที่ผ่านมาขายหุ้นสุทธิ -3.6 พันล้านบาท และขายบอนด์สุทธิราว -2.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็มีส่วนกดดันค่าเงินบาทในช่วงนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงมองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ (ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้แข็งค่าหลุดโซน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงจังหวะปรับฐานของราคาทองคำ แต่ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากเงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

เงินบาท \'อ่อนค่าลงหนัก\' เปิดเช้านี้ 34.30 บาท/ดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุน ถ้าตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจถูกกดดันบ้าง หากตลาดเพิ่มโอกาส BOE และ ECB ลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไร Trump Trades ได้

คงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.95-34.65 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.45 บาท/ดอลลาร์