นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบิดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายผู้บริโภคช่วงวันลอยกระทง 15 พ.ย.นี้ว่า บรรยากาศลอยกระทงปีนี้คึกคัก เพราะคาดมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 10,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนที่มีมูลค่าใช้จ่าย 10,005 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสูงสุดรอบ 9 ปีนับจากปี 59 ที่มีมูลค่า 9,639 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,449 บาท จากปี 66 ที่ 2,075 บาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับสาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้าแพง ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ดี รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง หนี้สินน้อยลง มั่นใจรายได้ในอนาคต
“มูลค่าใช้จ่ายที่สูงถึงระดับ 10,000 ล้านบาทในปีนี้ เกือบใกล้เคียงกับปี 58 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11,413 ล้านบาท และปีนี้ยังมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิดตั้งแต่ปี 62-64 ที่ใช้จ่ายกว่า 9,000 ล้านบาทนั้น ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้น แต่ยังไม่โดดเด่น เพราะคนยังระมัดระวังใช้จ่าย โดยซื้อสินค้าน้อยชิ้นลง แต่ต้องใช้เงินมากขึ้นเพราะของแพง”นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรน์ กล่าว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน คิดเป็น 23% ของประชากรไทย วงเงินกว่า 145,000 ล้านบาทตั้งแต่เดือนก.ย.67 นั้น พบว่า เกือบ 100% ของผู้ได้รับเงินใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ชี้ให้เห็นว่า เงินมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 100,000 ล้านบาทถูกใช้เข้าสู่ระบบแล้ว แต่ยังไม่เห็นภาพที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งประชาชนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาก จึงไม่เกิดความมั่นใจใช้จ่าย มาตรการนี้เหมือนยิงกระสุนแล้วได้นกครึ่งตัว ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ดังนั้น ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใส่มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ภาคเอกชนเสนอ โดยเฉพาะมาตรการ e-Receipt หากภาคการส่งออกที่จะดีขึ้นและโตได้ถึง 2.5-3% มากกว่าเป้าหมาย 1-2% ภาคท่องเที่ยวที่จะเด่นขึ้นช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตเกษตรเริ่มออกสู่ตลาด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.6-2.8% ตามที่คาดการณ์ไว้ และจะมีแรงส่งให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 68 ขยายตัวอย่างโดดเด่น
ขณะที่ปี 68 คาดการณ์ขยายตัวที่ 3% เพราะคาดว่า รัฐจะมีมาตรการเงินดิจิทัลเฟส 2 รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย ทำให้ประชาชน และธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น, อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดดเด่นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 และหากตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดจน มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 3.5%