นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ ของ SMEs ซึ่งต้องหาเม็ดเงินในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเดินหน้าต่อได้
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ระดมมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในมิติต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูกของ บสย. ภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงิน 1,000 ล้านบาท ค้ำประกันตั้งแต่ 1 หมื่น – 2 ล้านบาทต่อราย นานสูงสุด 10 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก พร้อมยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันตลอดโครงการ เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้กับ SMEs ผู้ประสบภัยอุทกภัย
นอกจากนี้ บสย. ยังได้ร่วมกับพันธมิตรสถาบันการเงินต่างๆ ค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ภายใต้โครงการ “ซอฟต์โลน GSB Boost Up” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เห็นชอบปรับแก้เงื่อนไขให้ธนาคารออมสิน จัดสรรวงเงิน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up นำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขยายกลุ่มครอบคลุมทั้ง SMEs รายย่อย และอาชีพอิสระ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น
นายสิทธิกร กล่าวว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ครอบคลุมทุกมิติ ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศ ส่งทีมงานเยี่ยมเยียน ติดตามให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมทีมงานศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้คำแนะนำในการพลิกฟื้นธุรกิจหลังน้ำลดอีกด้วย
“บสย. มุ่งช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะอาชีพอิสระ รายย่อย ชาวบ้านที่มีอาชีพขายของ ขายอาหาร ที่อาจขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือขาดความพร้อมในการขอสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินจากนอกระบบ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว และอาจซ้ำเติมทำให้การฟื้นฟูกิจการทำได้ยากยิ่งขึ้น ด้วยภาระต้นทุนการเงินที่สูง” นายสิทธิกร กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือ ช่องทาง LINE OA TCG First: @tcgfirst และ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999