svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

ออมสิน คิกออฟปลูกป่า 5 หมื่นไร่ นำร่องแปลงแรก 1,600 ไร่ จ.เลย

ออมสิน คิกออฟปลูกป่า 5 หมื่นไร่ ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามแผน Net Zero 2050 จับมือกรมป่าไม้นำร่องปลูกป่าอนุรักษ์แปลงแรก 1,600 ไร่ บนพื้นที่เขาหัวโล้น จังหวัดเลย

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ภายในปี 2050 เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้า Net Zero ทั้ง 3 Scope รวมถึงกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เช่น การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และการอนุรักษ์ป่า รวม 50,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เพื่อเพิ่มอาณาเขตป่าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกป้องโลก” ซึ่งธนาคารได้คิกออฟการปลูกป่าออมสิน แปลงที่ 1 ขนาด 1,600 ไร่ ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยได้รับเกียรติจากนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสราวุฒิ บุญเกื้อ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานธนาคารออมสิน นำโดย นางสาววชิรา การสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานความยั่งยืน นายสุชาติ เจริญธรรม ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 10 และทีมงานทั้งจากธนาคารออมสิน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกว่า 100 ชีวิต ได้ร่วมกันปลูกต้นกล้าพันธุ์ไม้ รวม 11 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้แดง ยางนา มะค่าโมง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ตะแบก ฯลฯ
 

ออมสิน คิกออฟปลูกป่า 5 หมื่นไร่ นำร่องแปลงแรก 1,600 ไร่ จ.เลย ออมสิน คิกออฟปลูกป่า 5 หมื่นไร่ นำร่องแปลงแรก 1,600 ไร่ จ.เลย

“โครงการปลูกป้องโลก” เป็นมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Net Zero 2050 ตามมติคณะกรรมการธนาคารออมสิน ตั้งเป้าปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมขนาดพื้นที่ 30,000 ไร่ และการอนุรักษ์ป่าขนาดพื้นที่ 20,000 ไร่ รวมจำนวนพื้นที่ป่าโดยธนาคารออมสินตลอดระยะเวลา 10 ปี (ปี 2567 – 2576) รวม 50,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับสะสมกว่า 35,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2) โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ในการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าทดแทนให้ได้ตามเป้าหมาย (ไม่รวมพื้นที่ป่าอนุรักษ์) นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าให้กับชาวบ้านของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการใส่ใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ชุมชนต้นน้ำอีกด้วย