svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไทยรั้งอันดับ 2 เงินเฟ้อประเทศอาเซียน

พาณิชย์เปิดอัตราเงินเฟ้อประเทศในอาเซียนเฉลี่ยครึ่งปีแรก 2567 ไทยต่ำอันดับสอง รองจากบรูไน เป็นผลจากกำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้มีการติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศดังกล่าวเนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดอาเซียน โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. - มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ซึ่งคำนวณโดยใช้ข้อมูลตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของ 9 ประเทศในอาเซียนที่ประกาศตัวเลขฯ จากฐานข้อมูล CEIC พบว่า ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ บรูไน ร้อยละ -0.26 อันดับ 2 คือ ไทย ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง และอันดับ 3 – 9  คือประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเป็นบวก ได้แก่ กัมพูชา ร้อยละ 0.26 มาเลเซีย ร้อยละ 1.81 อินโดนีเซีย ร้อยละ 2.79 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.87 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 3.55 เวียดนาม ร้อยละ 4.08 และลาว ร้อยละ 25.29 ตามลำดับ
 

ไทยรั้งอันดับ 2 เงินเฟ้อประเทศอาเซียน

ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรก (AoA) ต่ำที่สุดในอาเซียน คือ บรูไน (ร้อยละ -0.26) สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในตะกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ  นอกจากนี้ บรูไนเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและรายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายทางการเงินและมาตรการควบคุมราคาสินค้า จึงอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ โดยธนาคารกลางบรูไน (BDCB) ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 จะอยู่ในช่วงร้อยละ -0.5 ถึง 0.5 

ขณะที่ ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรก (AoA) สูงที่สุดในอาเซียน คือ ลาว (ร้อยละ 25.29) ซึ่งลาวมีฐานการผลิตภายในประเทศที่ยังไม่แข็งแกร่งมากนัก จึงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของลาวแตะจุดสูงสุดในรอบปี 2567 ที่ร้อยละ 26.15 (YoY) 
 

นอกจากนี้ เวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อยู่ที่ร้อยละ 4.08 (AoA) แต่ยังคงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่า GDP เวียดนามขยายตัวที่ร้อยละ 6.42 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 จากการเติบโตของภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งหากมองเศรษฐกิจของเวียดนามในภาพรวม ถือว่าค่อนข้างโดดเด่นในกลุ่มอาเซียนจาก GDP ที่เติบโตสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 4.0-4.5 

ส่วนอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ คือ มาเลเซีย ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.81 (AoA) โดยมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอาเซียน ถึงแม้เงินเฟ้อของมาเลเซียจะยังไม่เข้ากรอบประมาณการของธนาคารกลางที่อยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.5  แต่มีความใกล้เคียงและเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก GDP ในไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.9

สำหรับประเทศไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน โดยมีสาเหตุสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับราคาค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ณ กรกฎาคม 2567) ซึ่งใกล้เคียงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 0.7 (ณ เมษายน 2567) 

นายพูนพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศในอาเซียนมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงนโยบายทางการเงินและความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในอนาคต ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ภัยธรรมชาติ และมาตรการของภาครัฐ 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยอื่นที่หนุนภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเดินหน้าผลักดันปัจจัยดังกล่าวต่อไป และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะดำเนินงานในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยยึดหลักสร้างสมดุลให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจและประชาชน การขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจ SME รวมทั้งการรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ เพื่อผลักดันภาคการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน