ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุ ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกมีมูลค่า 25,720.6 ขยายตัวร้อยละ 15.2 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,285 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.8 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัวร้อยละ 9.3) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 999,755 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.4 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 1,373.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 61,470 ล้านบาท
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม–กรกฎาคม ปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.8 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.8 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 4) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 177,626.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.4 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,615.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 307,935 ล้านบาท
สรท. คงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตที่ร้อยละ 1-2 (ณ เดือนกันยายน 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่
1) ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกทันที เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ส่งผลต่อความสามารถในการแข็งขันที่ลดลงของผู้ประกอบการในประเทศ
2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ 2.1) สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ส่งผลให้สินค้าจีนไหลกลับมายังตลาดเอเซีย 2.2) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ
3) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล 3.1) สหภาพแรงงานทั่วประเทศสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หยุดการผลิตและกระทบซัพพลายเชนในภาคการผลิต และการให้บริการในท่าเรือฝั่งตะวันออกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในภาพรวมและปริมาณการนำเข้าของสหรัฐฯ 3.2) ค่าระวางเรือยังคงตึงตัวและผันผวนในท่าเรือหลัก ขณะที่เส้นทางภายในเอเชีย และตะวันออกกลาง ค่าระวางเริ่มลดลง แต่ในเส้นทาง สหรัฐ อเมริกาใต้ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ยังคงทรงตัวในระดับสูง และ 3.3) ปัญหาสภาพตู้ขนส่งสินค้าที่สายเรือส่งมอบให้บรรจุสินค้าต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ส่งออก
และ 4) การเข้าถึงและการตัดวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ ดังนี้
ด้านโครงสร้าง
1) รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อ 1) ช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และแข่งขันได้ในระดับสากล และ 2) การพัฒนาการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 30 ปี สรท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation) เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันดำเนินการ (รายละเอียดปรากฎตามหนังสือที่นำเสนอ)
ด้านโลจิสติกส์
2. เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีมาต่อเนื่อง ประกอบกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหายังไม่ได้บรรเทาลงสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและมีความติดขัดมากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่ผู้ส่งออก – นำเข้าต้องแบกรับ รวมถึงศักยภาพการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง
โดย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง หารือมีข้อสรุปของผลกระทบจากประเด็นปัญหาหลักมาจาก 1) ด้านข้อจำกัดของผู้ส่งออกนำเข้า 2) ด้านข้อจำกัดของการขนส่งด้วยเรือชายฝั่ง 3) ด้านข้อจำกัดของการขนส่งทางราง 4) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจราจรในท่าเรือ และ 5) ด้านความแออัดของท่าเทียบเรือสัมปทาน
และมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา 1) ด้านการขับเคลื่อนระดับนโยบาย อาทิ ตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงคณะทำงานร่วมระดับปฏิบัติการท่าเรือแหลมฉบัง 2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พัฒนา ลานวางตู้กลาง / Service Area / Rest Area ทั้งภายใน และภายนอก รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและทางน้ำภายในประเทศ ปรับปรุงด้านวิศวกรรมการจราจร อาทิ สร้างทางยกระดับข้ามจุดตัดรถไฟและถนนภายในท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น และเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือยกขน 3) ด้านกระบวนการทำงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ บังคับใช้ระบบ Truck Queue 100% เชื่อมโยงการทำงานเต็มรูปแบบกับระบบ Port Community System (PCS) 4) ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ อาทิ ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจปล่อยสินค้า ปฏิบัติงาน 7/24 ปรับปรุงสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กำหนด Service Level Agreement ด้าน Inland Transport 5) ด้านอื่น อาทิ ควรให้มีหน่วยงานกำกับดูแลและวางมาตรฐานการให้บริการของลานกองตู้สินค้า (Container Depot) รวมถึงควรให้มี บริการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกหนักก่อนออกจากท่าเรือ
โดยเบื้องต้น สรท. ได้ผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นไปยังหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2) กระทรวงคมนาคม และ 3) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
ด้านการเงิน
3. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท
4. พิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข สนับสนุน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก
ด้านการผลิตและต้นทุน
5. กำกับดูแลต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อให้การส่งออกของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ อาทิ ต้นทุนพลังงานและราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเฉพาะค่าระวางเรือ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
6. กำกับดูแลสินค้าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนในประเทศ ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ 1) ควรมองถึงการรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาป (ICE) ให้เป็น last man standing 2) ขับเคลื่อนตลาด after market เนื่องจากเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถผลักดันกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่าน และ 3) การปรับตัวของชิ้นส่วนเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ และ อุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น
ด้านการตลาดและ e-Commerce
7. กำกับดูแลสินค้าไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะ SMEs และปัญหาการจ้างงานลดลง