29 กันยายน 2566 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีส่งมอบ-รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลาง ในคดีพิเศษที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ไปทำลาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายกำหนดมาตรการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง จึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ผลผลิตตกต่ำ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมถึงการหลอกลวง สินค้าผิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้ประกาศการขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรผิดกฎหมายไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
และในวันนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้รับมอบตู้สินค้าของกลางฯ จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 4.3 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า 567 ล้านบาท จากกรมศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการท่าเรือสีขาวโดยได้เปิดตู้คอนเทนเนอร์สินค้าตกค้าง พบสินค้าผิดกฎหมายทั้งหมูเถื่อนและอื่น ๆ จากนี้จะดำเนินการทำลายของกลางฯ ดังกล่าวทิ้งให้สิ้นซาก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและเรียกความเชื่อมั่นจากผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามสินค้าเกษตรที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรต่อไปในอนาคต
“การรับมอบและเผาทำลายซากสุกรที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ในคดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นการสะท้อนความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมศุลกากร และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่แบบบูรณาการ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเป็นธรรม ไม่กระทบกลไกราคาสุกรในประเทศ รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านโรคระบาดสัตว์ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในอาชีพ ตลอดจนช่วยป้องกันอันตรายจากสารปนเปื้อนที่มาจากหมูเถื่อนไปสู่ผู้บริโภคสำหรับการทำลายซากสุกรเถื่อนที่ได้ตัดไฟเครื่องทำความเย็นในวันนี้ จะต้องทยอยทำลายให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ตุลาคมนี้ และเพื่อเป็นการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีก จะมีการขยายผลและตรวจสอบเส้นทางการเงินรวมทั้งดำเนินการยึดทรัพย์ด้วย โดยได้มอบหมายนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำกับดูแลและบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย” รอ.ธรรมนัส กล่าว
โดยภายหลังจากพิธีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางไปยังสำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อ KICK OFF เผาทำลายซากสุกรของกลางฯ ชุดแรกจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยวิธีการเผาในเตาเผาระบบปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับของกลางส่วนที่เหลือจะทยอยนำไปเผาทำลายเป็นชุด ๆ ด้วยการฝังกลบที่จังหวัดสระแก้วจนครบ 161 ตู้คอนเทนเนอร์ตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย และตรวจสอบได้ต่อไป