นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญการแก้หนี้สินประชาชนและ SMEs ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มนี้ดำรงชีวิตต่อไปได้และมีกำลังชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม โดยพักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กลุ่มลูกหนี้ NPL มาไม่เกิน 1 ปี โดยจะมีการปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี (Cut of date) ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค.2567
โดยเงื่อนไขใน 3 กลุ่มของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการนี้ ได้แก่ 1.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้บ้านกับสถาบันการเงินไม่เกิน 3 ล้านราย และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี 2.ลูกหนี้ที่กู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคัน และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี 3.ลูกหนี้กลุ่ม SMEs ที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน
สำหรับวงเงินรวมทั้งหมดที่จะเข้าโครงการนี้คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายรวม 2.3 ล้านบัญชี โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยรายละเอียดทั้งหมดคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง
สำหรับลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์ใน 3 กลุ่มที่เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ 1.หนี้บ้าน 4.6 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.83 แสนล้านบาท 2.หนี้รถ 1.4 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.75 แสนล้านบาท และ 3.หนี้เอสเอ็มอีที่กู้เพื่อประกอบอาชีพ 4.3 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.54 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่มีสิทธิ์เข้าโครงการต้องลงทะเบียนเข้าโครงการเมื่อมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ
“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เราดูแล้วว่าถ้ามีการช่วยเหลือบางส่วนจะกลับเข้ามาจ่ายหนี้ได้ แต่ถ้าไม่ช่วยก็จะล้มลงได้ ส่วนการกำหนดวันที่ตัดบัญชีในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ป้องกันเรื่องที่เรียกว่าภาวะความเสี่ยงทางศีลธรรม Moral Hazard เพราะว่าตอนนี้คนที่เป็นหนี้ก็ไม่สามารถมาผิดนัดชำระหนี้เพื่อให้เข้าโครงการนี้ได้แล้ว"
ส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติมกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหากในกลุ่มนี้สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนดระยะเวลาก็สามารถที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม
ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการจะไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่จะร่วมกับสถาบันการเงิน 2 แนวทาง คือ
1.รัฐบาลจะลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินมาช่วยชำระดอกเบี้ยแทน
2.สถาบันการเงินจะใส่เงินเข้ามาตรงนี้ส่วนหนึ่งด้วยแต่จะใส่เงินเข้ามาเท่าไหร่นั้นรายละเอียดในส่วนนี้ กนส.จะเป็นฝ่ายที่ให้ข้อมูล
ทั้งนี้ข้อกังวลหากลดจ่ายหนี้เข้ากองทุน FIDF จะทำให้การจ่ายหนี้ในส่วนนี้ช้าลงไปนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้พิจารณาแล้วและเห็นว่าตอนนี้เรื่องการแก้หนี้สินที่มีปัญหาในส่วนนี้มีความสำคัญมาก ส่วนการกำหนดการเก็บเงินเข้ากองทุน FIDF บริหารจัดการได้
ขณะที่ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของ SMEs นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ปัญหาการไม่ปล่อยกู้มาจากการที่สถาบันการเงินไม่เชื่อมั่นเพียงพอว่าผู้กู้จะชำระเงินกู้คืนได้ ซึ่งได้แก้ไขด้วยการเพิ่มหลักประกันในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ที่มีการเพิ่มวงเงินเป็นระยะและในระยะต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นกลไกของสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้