20 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีศาลอาญา อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาของ น.ส.ศิริพร หรือ ก้อย ผู้เสียชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นางสรารัตน์ หรือ "แอม" จำเลยที่ 1 ความผิดฐาน "ฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย"
พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา หรือ "ทนายพัช" จำเลยที่ 3 ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 30 ล้านบาท
สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 สรุปว่า
เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2566 นางสรารัตน์ จำเลยที่ 1 มีเจตนาสังหาร น.ส.ศิริพร หรือ ก้อย โดยนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหาร หรือน้ำดื่ม และปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ให้ผู้ตาย ดื่มหรือรับประทาน ระหว่างที่ จำเลยที่ 1 กับผู้ตาย ซึ่งเป็นเพื่อนกันเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อนที่ผู้ตายจะหมดสติ และเสียชีวิตเวลาต่อมา โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ และนำทรัพย์สินผู้ตาย 9 รายการ มูลค่า 154,630 บาท ของผู้ตายไปให้แก่ผู้มีชื่อ เพื่อซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ตามที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้ หรือ ยุยงส่งเสริมจำเลยที่ 2 เพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาทรัพย์ของผู้ตาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
"จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 2-3 ได้รับการประกันตัว โดยศาลตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท โดยก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญเเจมือจำเลยทั้ง 3 ราย"
ศาลพิพากษาว่า จำเลย ทั้ง 3 กระทำผิดตามฟ้อง เห็นว่า นางสรารัตน์ กระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อกระทำอย่างอื่น พิพากษาประหารชีวิต
ส่วน พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามีแอม จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา หรือ ทนายพัช จำเลยที่ 3 มีความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน ลงโทษจำคุก คนละ 2 ปี เเต่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน เเละให้ชดใช้ค่าเสียหายเเก่โจทก์ร่วม 2 ล้าน 4 เเสนบาทเศษ
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 2-3 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เเล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวตีราคาประกันคนละ1 เเสนบาทไม่ได้กำหนดเงื่อนไข
"ทนายพัช" เผย เตรียมสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์
ต่อมา เวลา 17.38 น. พ.ต.ท.วิฑูรย์ ได้รับการปล่อยตัวตามคำสั่งของศาล และเดินทางออกมาจากอาคารศาลอาญา ผู้สื่อข่าวได้พยายามที่จะเข้าไปสอบถามและพูดคุย ปรากฎว่า พ.ต.ท.วิฑูรย์ ได้แต่มองหน้าผู้สื่อข่าวและเดินปรี่ไปขึ้นรถออกไปจากศาลทันที โดยไม่ตอบคำถามใด ๆ ของผู้สื่อข่าว
หลังจากนั้น ในเวลา 17.55 น. น.ส.ธันย์นิชา หรือทนายพัช ลงมาจากอาคารศาลอาญา พร้อมด้วยนายไชยา ทนายความของจำเลยทั้ง 3 คน โดยได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังจากได้รับการประกันตัว
ทนายไชยา กล่าวว่า ในส่วนคำพิพากษาในวันนี้นั้นถือเป็นดุลยพินิจของศาล เราต้องเคารพและไม่ก้าวล่วงต่อศาล เมื่อศาลใช้ดุลพินิจแบบไหนเราต้องมีหน้าที่ในการต่อสู้ในชั้นอุทรณ์ต่อไป แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเคารพต่อศาลตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ปรากฏประจักษ์พยานที่เห็นชัดจากฝั่งโจทก์ ที่นำมาประกอบในคำพิพากษา โดยพยานหลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างมีเพียงแค่แต่ไม่มีพยานที่ฝั่งจำเลยกล่าวอ้างเลย
ขณะที่ น.ส.ธันย์นิชา หรือทนายพัช กล่าวว่า พยานฝั่งจำเลย ทั้งคนติดตั้งกล้องวงจรปิดและความเห็นของหมอพรทิพย์ โดยในคำพิพากษาไม่มีการกล่าวถึงพยานส่วนนี้ของฝั่งจำเลยแม้แต่น้อย ทำให้ตนรู้สึกติดใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเห็นในส่วนของหมอพรทิพย์ที่ไม่มีอยู่ในคำพิพากษาได้อย่างไร
ทนายไชยา กล่าวอีกว่า ตนมองว่าทั้งพยานและคำให้การของฝั่งจำเลยนั้นได้นำเสนอแก่ศาลในชั้นพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่ตนมีความเห็นว่า ศาลไม่ยกประเด็นฝั่งจำเลยมาพิจารณา โดยในชั้นอุทธรณ์นั้น จะมีหลายประเด็นที่ต้องต่อสู้ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยจะเน้นพยานหลักฐานฝั่งตนเองที่เคยนำสืบไปแล้วมาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ตนคงไม่นำเสนอพยานหลักฐานใหม่ เช่น กรณีที่มีการปลอมปนยาในรถ ซึ่งฝั่งของตนมีการนำสืบว่าพบภาพวงจรปิดที่ขยายเห็นภาพภายในรถ แต่ในประเด็นดังกล่าวฝั่งโจทก์ไม่ได้นำเสนอในชั้นศาลตามที่กล่าวอ้างว่ามีการปลอมปนยาภายในรถ ตนเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยกประเด็นกล้องวงจรปิดมานำสืบ เพราะจะทำให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์วางยาพิษ
ทนายไชยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า รถดังกล่าวลูกของผู้ต้องหาก็อยู่ภายในรถด้วยแต่ไม่มีใครได้รับอันตราย เพราะถ้าหากเปิดขวดไซยาไนด์ขึ้นมา สารพิษจะต้องฟุ้งกระจายในรถแล้ว รวมทั้งผู้ที่มาตรวจรถต้องได้รับอันตรายจากสารไซยาไนด์แล้ว
เมื่อถามว่าประเด็นที่มีการพบขวดไซยาไนด์ภายในรถ ได้อย่างไร ด้านทนายพัช กล่าวว่า ทางตำรวจมีการสั่งซื้อไซยาไนด์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 แล้วนำมาทดสอบในรถเพื่อประกอบในสำนวนคดี
ทนายพัช กล่าวต่ออีกว่า ตนมองว่าประเด็นที่สำคัญอีกก็คือไม่พบสารไซยาไนด์ในตัวของแอม รวมทั้งเสื้อผ้าหรือที่เล็บและเสื้อผ้าของผู้ตายก็ไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่น ส่วนประเด็นที่พบว่ามีถุงดำหรือถุงมือปรากฎในข่าวนั้นก็ไม่พบดีเอ็นเอของแอมเช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่าภายหลังศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต แอมมีความรู้สึกอย่างไร ด้านทนายไชยา กล่าวว่า แอมได้ทำใจไว้แล้วว่าผลพิพากษาจะต้องออกมาเป็นแบบนี้ ด้วยความเป็นผู้หญิง ไม่มีทางที่ลูกความของตนจะไม่มีความเครียด รวมทั้งแอมมีความเป็นห่วงและคิดถึง พ.ต.ท.วิฑูรย์ และทนายพัชมากกว่าตัวเอง โดยระหว่างพูดคุยหลังคำพิพากษา แอมตาแดงก่ำอย่างเห็นได้ชัด
ด้านทนายพัช กล่าวเสริมว่า มีคำพูดที่แอมพูดไว้ด้วยแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าจะละเมิดอำนาจของศาล ส่วนการต่อสู้ของตนและพ.ต.ท.วิฑูรย์ ในชั้นอุทธรณ์ ตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยปกปิดพยานหลักฐาน และทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ตนไม่ขอเปิดเผยข้อต่อสู้เพราะจะมีผลต่อการต่อสู้ของรูปคดี