svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Sustainable

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

ในโลกที่ความฝันควรเป็นแรงขับเคลื่อนสู่อนาคตที่สดใส แต่สำหรับเด็กหลายคนความฝันที่สดใส กลับถูกบดบังจนเหลือเพียงความหวังที่ริบหรี่ ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษากลายเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นพวกเขาเอาไว้ ให้ไกลจากความฝัน สุดท้ายแล้ว ความฝันอาจดับลง หรือสูญหายไป

ความเหลื่อมล้ำปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งในด้านของเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ หรือโอกาสทางสังคม ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยที่ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่แตกต่างกัน ผู้คนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ในขณะเดียวกันผู้คนอีกกลุ่มกลับต้องเผชิญกับการขาดแคลนและการถูกทอดทิ้งจากโอกาสต่างๆ

ช่องว่างนี้ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางด้านความคิดได้ในอนาคต ความเหลื่อมล้ำไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวอีกด้วย  

ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เเทรกซึมอยู่ในระบบการศึกษาของเด็กไทยนั้นเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ เเละมุ่งหวังให้เกิดการเเก้ไขมากที่สุดประเด็นหนึ่ง เนื่องจากการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้าง ส่งเสริม พัฒนาบุคคลให้เข้าสู่ระบบกลไกลอื่นๆ ต่อไป อีกประการหนึ่งความเหลื่อมล้ำในการศึกษายังเป็นเหตุผลที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในอีกหลากหลายมิติ

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของการศึกษาในอนาคต ว่า

 

ในอนาคตมีเเนวโน้มที่ความเหลื่อมล้ำในการศึกษานั้นจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วย 2 ปัจจัยหลักภายในประเทศ

1.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรอบนี้เป็นรูปแบบ "K-Shaped" เป็นการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุล คือมีทั้งส่วนที่ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ ขณะที่ยังมีบางส่วนที่ตกต่ำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มคนที่อยู่ในช่วง Kขาขึ้น จะมีการฟื้นตัวขึ้นทำให้สามารถดูแลคุณภาพชีวิตเด็กให้ดีขึ้นได้ ในขณะที่คนในกลุ่ม Kขาลง ที่มีทรัพยากรที่ค่อยๆ ลดลงส่งผลให้ความสามารถในการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กนั้นลดลงตาม โดยเด็กอาจหมดโอกาสและสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีไป 

2.เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยที่เข้ามา ส่งผลทำให้คนสามารถเข้าถึงและเกิดการเรียนรู้แตกต่างกัน เช่น เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ และความพร้อมด้านทรัพยากร เช่น แท็บเล็ต ก็สามารถเรียนรู้จากตรงนี้ได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เด็กในชนบทที่ไม่มีความพร้อมทางทรัพยากรต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติม กระทบไปถึงเรื่องผลการศึกษาที่อาจทำให้อยู่ในระดับที่ต่ำ 

เกิดเป็นความเเตกต่างของการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่    

 

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสในชีวิตของเด็ก แต่เมื่อความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร ครูผู้สอน หรือโอกาสทางการศึกษา เด็กบางกลุ่มอาจไม่ได้รับโอกาสเท่าเทียมในการเรียนรู้ ส่งผลให้ความฝันและศักยภาพของพวกเขาถูกจำกัด 

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

 

คำพูดสวยงามที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ คือ “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น” คำพูดที่ระบบการศึกษามักพร่ำสอน แต่ในขณะเดียวกันคนที่ไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่พยายาม เช่น คนที่มีฐานะยากจน มักถูกมองว่าคือคนที่ไม่มีความพยายาม แต่มองในมุมกลับกันความจนอาจไม่เกี่ยวกับความพยายาม 

ผู้คนหลายกลุ่มต่างดิ้นรนทำงานเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักของความยากจน เเต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เเม้จะพยายามมากเเค่ไหนก็ยังหนีไม่พ้น ซึ่งเเสดงให้เห็นว่าความจนจึงไม่ได้เกิดจากการไม่พยายาม เเต่ยังเกิดจากระบบเเละโครงสร้างอื่นๆที่ครอบงำเอาไว้

ผู้คนมากมายต่างกระเสือกกระสนทำงานตั้งเเต่ฟ้าสางจนฟ้ามืด ทำงานหนักหาเงินส่งเสียให้บุตรหลาน เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น โดยหวังว่าการศึกษาจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาจะหลุดออกจากวงโคจรของความยากจน 

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

 

เด็กมากมาย ต่างวาดฝันที่จะได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ มุ่งมั่นพยายามในการศึกษา แต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยข้อจำกัดที่ขวางกั้นความฝันของพวกเขาเอาไว้ การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ล้วนเกิดจากปัจจัยในหลายมิติ

ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะมากกว่า นั่นสามารถเข้าถึงการศึกษา และได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มากกว่า การเข้าถึงการศึกษานั้นก็มักถูกลดหลั่นไปตามสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ เเละสังคมแห่งชาติพบว่า

 

เด็กยากจนยังคงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้น้อย ในปี 2566 มีเด็กวัยเรียน (อายุ 3-21 ปี) ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนจำนวนประมาณ 7.53 แสนคน

โดยอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับประถมศึกษาอยู่ที่ ร้อยละ 90.91 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำกปีก่อนหน้า

แต่อัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กยากจนกลับลดลงตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น อยู่ที่ร้อยละ 67.41

สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เหลือเพียงร้อยละ 41.09

และระดับปริญญาตรีอยู่ที่ร้อยละ 3.96 เท่านั้น สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสในการศึกษากับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว  

 

มีเด็กหลายกลุ่มที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากไม่สามารถเเบกรับข้อจำกัดเหล่านั้นได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงในโอกาสทางการศึกษาที่ต่อเนื่องแม้ในระบบการศึกษาจะมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาภาคบังคับ

แต่เด็กบางกลุ่มนั้นก็อาจไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือการขาดความรู้ในทางเลือกต่างๆ ที่สามารถช่วยให้พวกเขามีโอกาสเรียนต่อได้ 

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก  

นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมยังมีผลต่อความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เช่นเด็กในชนทบเด็กในพื้นที่ชนบทหรือห่างไกลมักไม่ได้รับโอกาสในการเรียนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมืองใหญ่ หรือในพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีกว่า

เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ส่งผลทำให้โรงเรียนในชนบทมักพบกับอุปสรรค ด้านการขาดแคลนบุคคลากร การเข้าถึงอุปกรณ์ทันสมัย หรือมาตรฐานในด้านต่างๆ นอกจากนี้เด็กชาติพันธุ์ หรือเด็กชายขอบมักขาดโอกาสทางการศึกษาที่มากกว่าเช่นกัน เนื่องจากระบบการศึกษานั้นไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และไม่ได้มีระบบจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีพื้นฐานที่เเตกต่าง

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว กล่าวว่า การศึกษาในเขตเมื่องเเละพื้นที่ชนทบมีความแตกต่างกันจาก 3 มิติหลัก 

 

1.ระดับครอบครัว ครอบครัวที่มีฐานอยู่ในเขตเมืองส่วนใหญ่นั้นจะมีการเข้าถึงการศึกษามากกว่าพื้นที่ชนบทเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในบ้าน

2.ตัวเด็ก ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในบ้าน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางการดูแลที่ส่งผลไปถึงตัวเด็ก เพราะครอบครัวที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ จะมีลักษณะการดูแลเด็กในแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไป  รวมถึงรายได้ของแต่ละครอบครัวก็ส่งผลต่อการดูแลเช่นกัน ทั้งการประกอบอาชีพ การศึกษา ทัศนคติ 

3.ความพร้อมของโรงเรียน กล่าวคือ โรงเรียนในชนบทกับในเมืองมีทรัพยากรทางการศึกษาไม่เท่ากัน โรงเรียนในเมืองจะมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรเยอะกว่า ในขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ชนบทมักประสบปัญหากับการขาดแคลนทรัพยากร 

เพราะฉะนั้นความไม่พร้อมของครอบครัวส่งผลต่อความไม่พร้อมของตัวเด็ก กับความไม่พร้อมของโรงเรียน จึงทำให้เกิดความต่างในแง่ของคุณภาพการศึกษาระหว่างชนบทกับเมืองเยอะมากขึ้น

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือกำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษายังส่งผลกระทบต่อตัวเด็กในอนาคต รวมไปถึงผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

เช่นปัญหาการขาดเเคลนเเรงงานในพื้นที่ชนบท  ปัญหาด้านคุณภาพของทรัพยากรบุคคล เช่นเด็กที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอาจจะต้องผันตัวไปเป็นเเรงงาน ซึ่งเเรงงานส่วนใหญ่มักจะต้องโยกย้ายเข้ามาทำงานในเขตเมืองใหญ่ทำให้ ในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือชนบทขาดเเคลนเเรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรฐกิจ อีกทั้งเมื่อประชากรโยกย้ายเข้ามาทำงานในเขตเมืองหลวงหรือพื้นที่อุตสหกรรม มักส่งผลกระทบตามมาคือปัญหาด้านความเเออัด หรือปัญหาทางด้านสังคมอื่นๆ

แม้พวกเขาจะมุ่งมั่นและตั้งใจ แต่ความเหลื่อมล้ำกลับทำให้ความฝันของพวกเขาถูกบดบังและไม่สามารถไปถึงจุดหมายได้ ในขณะที่สังคมยังยืนยันว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" แต่เด็กที่มาจากฐานะยากจนหรือครอบครัวที่มีข้อจำกัด กลับไม่ได้รับโอกาสเท่ากับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี และแม้ครอบครัวจะพยายามทำงานหนักเพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสศึกษาต่อ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยากเกินจะข้ามไป 

 

“ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งขวางกั้นความฝันของเด็ก

 

การลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาจึงเป็นปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชนที่ต้องสร้างความเข้าใจเเละความร่วมมือกันในการเเก้ปัญหา ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว ยังกล่าวถึงเเนวทางในการเเก้ปัญหา

 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ควรมองเพียงว่าการมีทรัพยากรอย่างเดียวจะช่วยแก้ได้ แต่การบริหารจัดการที่ดีก็สามารถแก้ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญในแง่ของการเรียนรู้

หากกระทรวงการศึกษาสามารถร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ โดยการใช้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแต่โรงเรียนจะเป็นของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนทั้งชุมชน

เช่น กระทรวงเกษตรอยากจัดกิจกรรม ก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่โรงเรียนเพื่อเป็นศููนย์กลางการเรียนรู้  เรียกว่า “School For All” หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชน สุดท้ายจะสามารถช่วยจัดการเรียนรู้ให้เด็ก และเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นจะลดลงไปด้วย 

 

การเเก้ไขปัญหาเหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ทุกคนสามารถกล้าฝัน ได้ทำตามฝันของพวกเขานั้นให้เป็นจริงได้ และเป็นส่วนในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืนได้ในอนาคต 



 

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ เเละสังคมแห่ง

อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์