svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

“มวยสากล” ในโอลิมปิกเกมส์...ถึงเวลาของ “เทคโนโลยี” แล้วหรือยัง?

กว่าศตวรรษแล้วที่กีฬามวยสากลสมัครเล่นถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์” แต่แทบทุกครั้งจะต้องมีคำครหาเกี่ยวกับผลการตัดสิน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฏกติกามามากแค่ไหนก็ตาม

“มวยสากลสมัครเล่น” เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดของมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ เพราะถูกบรรจุเข้าแข่งขันมาตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 3 เมื่อปี 1904 โดยยุคแรก การตัดสินจะอ้างอิงตามรูปแบบของมวยสากลอาชีพ คือให้มีกรรมการให้คะแนนอยู่ข้างเวที 2 คน ส่วนการชกจะแข่งกัน 3 ยก ยกละ 3 นาที

 

กระทั่งโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 4 ก็มีการเปลี่ยนกติกาคือ สองยกแรก ชกกันยกละ 3 นาที กรรมการจะตัดสินโดยให้คนที่ชกเหนือกว่าได้ 5 คะแนน ส่วนคนเป็นรองได้ 4 คะแนน และหากมีคนโดนนับก็จะถูกหักคะแนนเพิ่มไป...ส่วนยกสุดท้ายจะเพิ่มเวลาชกเป็น 4 นาที คนที่เหนือกว่าได้ 7 คะแนน คนเป็นรองได้ 6 คะแนน ถ้าครบ 3 ยกแล้วคะแนนเสมอกันอาจมีการชกอีก 1 ยกเพื่อตัดสินผู้ชนะ

 

กติกานี้ถูกใช้มายาวนานที่สุด จนถึงปี 1952 ก็มีการเปลี่ยนกติกาอีกรอบ โดยเปลี่ยนวิธีตัดสินเป็นยกละ 10 คะแนนแบบมวยสากลอาชีพ ส่วนกรรมการก็เพิ่มเป็น 3 คนในปีนั้น และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 คนในโอลิมปิก 1960

“มวยสากล” ในโอลิมปิกเกมส์...ถึงเวลาของ “เทคโนโลยี” แล้วหรือยัง?

มาถึงโอลิมปิกเกมส์ปี 1988 มวยสากลสมัครเล่นกลายเป็นการแข่งขันกีฬาที่อื้อฉาวไปทั่วโลก จากกรณีที่ รอย โจนส์ จูเนียร์ นักชกชาวอเมริกัน ไล่ถลุง ปาร์ค ชี ฮุน นักชกเจ้าภาพอยู่แทบจะฝ่ายเดียว แต่สุดท้ายกรรมการกลับตัดสินให้นักมวยเกาหลีใต้ชนะไป 3-2 เสียง ชนิดช็อกกันทั้งโลก และนั่นก็ไม่ใช่ไฟต์เดียวที่มีข้อกังขาในโอลิมปิกครั้งนั้น

 

เพื่อไม่ให้กีฬามวยในโอลิมปิกต้องตกต่ำไปมากกว่านี้ จึงมีการเปลี่ยนกติกาครั้งใหญ่ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อมา (1992) คราวนี้ยกเลิกการให้คะแนนแบบมวยอาชีพ แต่เปลี่ยนมาเป็นให้คะแนนตามจำนวนหมัดที่ชกเข้าเป้า โดยกรรมการ 5 คน กดปุ่มให้นักมวยที่ชกเข้าเป้า หากกดพร้อมกัน 3 คน นักมวยคนนั้นก็จะได้คะแนน

 

ดูเหมือนจะโปร่งใส แต่สุดท้ายการตัดสินที่น่ากังขาก็ยังมีต่อไปด้วยวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ บางคนต่อยเป็นชุดแต่คะแนนไม่ขึ้น บางคนต่อยทุกหมัดคะแนนขึ้นทุกครั้ง จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ต้องออกมาขู่หลายครั้งว่าหากสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) ยังไม่ปรับปรุงการตัดสินให้บริสุทธิ์ยุติธรรม กีฬามวยสากลสมัครเล่นก็อาจจะถูกถอดออกจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต

“มวยสากล” ในโอลิมปิกเกมส์...ถึงเวลาของ “เทคโนโลยี” แล้วหรือยัง?

มาถึงโอลิมปิกเกมส์ “ริโอ 2016” มีการเปลี่ยนกติกาอีกรอบ คราวนี้หวนกลับไปใช้ระบบ 10 คะแนนต่อยก โดยอ้างว่าเพื่อให้กีฬามวยสากลสมัครเล่นมีความคล้ายคลึงกับการแข่งขันระดับอาชีพให้มากที่สุด

 

การหวนกลับไปใช้กติกาแบบเดิมๆ จะหวังให้ผลลัพธ์ต่างจากเดิมก็คงเป็นไปได้ยาก สุดท้ายการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นก็ยังเจอกับการติดสินที่น่ากังขาอยู่ต่อไป แม้จะเปลี่ยนผู้รับผิดชอบการแข่งขันจาก ไอบ้า มาเป็นคณะกรรมการชุดพิเศษของ ไอโอซี ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ก็ตาม ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องให้กีฬามวยสากลสมัครเล่น นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้การตัดสินมีความโปร่งใสมากขึ้น เช่นเดียวกับ เทควันโด ที่ทำสำเร็จมาแล้วกับการใช้เกราะไฟฟ้า หรือกีฬาเทนนิส ที่มีระบบ “ฮอว์กอาย” ตัดสินว่าลูกลงหรือไม่ รวมไปถึงฟุตบอล ที่มีการใช้ระบบ โกลไลน์ และ วีเออาร์ มาเป็นผู้ช่วยผู้ตัดสินอย่างแพร่หลายในช่วง 2-3 ปีหลัง

 

การใช้เทคโนโลยีในวงการกีฬานั้น มุมหนึ่งก็อาจจะทำให้การแข่งขันบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้นกว่าเดิมได้ แต่สิ่งที่หลายคนยังคัดค้านอยู่ก็คือ จะต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดปัญหาต่อการพัฒนา โดยเฉพาะกับชาติที่ไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนมากนัก ทำให้พวกเขาเหล่านั้นยังตั้งคำถามอยู่ว่ามันจะคุ้มกันหรือไม่ เพราะจริงๆแล้วปัญหาการตัดสินน่าจะอยู่ที่ “คน” มากกว่า” เครื่องมือ”

“มวยสากล” ในโอลิมปิกเกมส์...ถึงเวลาของ “เทคโนโลยี” แล้วหรือยัง?

อนาคตของวงการมวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิก ถึงเวลานี้ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะยังมีอยู่หรือไม่ และถ้ายังมี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการแข่งขันต่อ เพราะ ไอบ้า ก็ประกาศแล้วว่าจะรื้อฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อกลับมาเป็นผู้จัดในโอลิมปิกครั้งหน้าให้ได้

 

ทำให้จากนี้แฟนๆหมัดมวยต่างก็ต้องรอเฝ้าติดตามกันต่อไป ว่าสุดท้ายแล้วเหล่าผู้เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาการตัดสินด้วยวิธีไหน จะแก้ที่คน ที่องค์กร หรือที่เครื่องมือ