17 พฤศจิกายน 2567 ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย.67 ภายใต้แนวคิด "มนต์เสน่ห์แม่ระมิงค์ แสงศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม"
ในปีนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เน้นด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดฯ ซึ่งเป็นจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว และเน้นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สัมผัสกับความงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอันงดงามและทรงคุณค่า ตลอดจนรักษาจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
โดยคาดว่าในช่วงเทศกาลยี่เป็ง จะมีเงินสะพัดมากกว่าพันล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยให้เชียงใหม่ฟื้นตัวหลังประสบมหาอุทกภัย
หากใครได้ไปเที่ยวงานนี้ ก็คงได้เห็นกับตา และสัมผัสได้ถึงความงดงามของประเพณียี่เป็ง ด้วยตัวเอง แต่ถ้าใครไม่ได้ไป ทาง "เนชั่นทีวี" รวบรวมไฮไลท์บางส่วน และโมเมนต์ภายในงานมาให้ชมกัน ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลย
เปิดซุ้มประดับไฟมงคล ต้อนรับ "เทศกาลยี่เป็ง"
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำผู้บริหารของเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมเปิดซุ้มประดับไฟ เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2567 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเทศบาลนครเชียใหม่ จัดทำซุ้มประดับไฟมงคล "พิงคราษฎร์ภักดี เฉลิมพระจักรี ฑีฆายุโก" (พิง-คะ-ราค-พัก-ดี ฉะ-เหลิม-พระ-จัก-กรี ที-คา-ยุ-โก) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
โดยเทศบาลนครเชียใหม่ได้ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสร้างซุ้มไฟประดับในรูปแบบซุ้มโขง 14 ซุ้ม บนถนนท่าแพไปจนถึงลานข่วงประตูท่าแพ รวมระยะทางกว่า 200 เมตร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับซุ้มโขงดังกล่าวนี้เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาคลาสสิคร่วมสมัยสไตล์โคโลเนียล ที่นำเสนออัตลักษณ์ของล้านนา ซุ้มที่ 1 และซุ้มที่ 14 เป็นลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษา และดอกพุตตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของการตกแต่งประดับหน้าบันวิหารล้านนา ตรงกลางซุ้มประดับรูปเทวดาอันเชิญดวงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีตราเทศบาลนครเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง วางบนฐานประดับลายบัวคว่ำบัวหงาย
ส่วนในซุ้มที่ 2 ถึง 13 ด้านหนึ่งประดับประดาด้วยลวดลายปีเปิ้ง ตามคติความเชื่อระบบปฏิทินของจีนโบราณ ที่ถูกกำหนดใช้เป็นรูปสัตว์ 12 นักษัตรแทนในรอบ 12 ปี โดยความเชื่อเรื่องนักษัตรมงคลประจำปีเกิดเหล่านี้ มีทั้งไทยและล้านนาตั้งแต่อดีต แต่ล้านนาเปลี่ยนปีกุน จากเดิมนักษัตรหมู มาเป็นช้างแทน การนับปีเปิ้ง จะเริ่มจากปีนักษัตรหนู แล้วสิ้นสุดที่ปีนักษัตรช้างนั่นเอง อีกด้านหนึ่งประดับด้วยลายจักราศีสากล เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในประเพณีเดือนยี่เป็ง
สำหรับซุ้มประดับไฟ "พิงคราษฎรภักดี เฉลิมพระจักรี ทีฆายุโก" มีความหมายว่า "พสกนิกรชาวเชียงใหม่ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความจงรักภักดี ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" โดยซุ้มประดับไฟนี้จะเปิดให้ประชาชนได้ชื่นชมความสวยงามไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
สว่างไสวทั่วเมืองเชียงใหม่ "ต๋ามผางปะตี้ด" นับแสนดวง ถวายเป็นพุทธบูชา
13 พ.ย.67 มีกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ กิจกรรม "ต๋ามผางปะตี้ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง" ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 13 โดยเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย มีพิธีเปิดที่ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
ซึ่งงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจุดผางประทีปแทนการปล่อยโคมลอยในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสืบสานประเพณีชาวล้านนาและส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้แนวคิด "ล้านนา บูชา และแสงไฟ" เพื่อใช้เทศกาลยี่เป็งในปีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูเมือง เพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชาวล้านนาภายหลังอุทกภัย
กิจกรรมนี้ มีการแสดงฟ้อนเทียนบูชาเมืองของช่างฟ้อนกว่า 728 คน เท่าอายุเมืองเชียงใหม่ มีอายุตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 80 ปี และมีขบวนแห่แบบล้านนา จากท่าแพ เข้าสู่ถนนราชดำเนิน-ถนนพระปกเกล้า ก่อนเข้าสู่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
และมีการจุดผางประทีปบริเวณกำแพงเมืองรอบคูเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 4 มุมเมือง และ 5 ประตูเมืองทั่วเมืองเชียงใหม่ นับแสนดวง ในประเพณียี่เป็ง โดยบรรยากาศทั้ง 4 แจ่งรอบกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ได้จุดผางประทีปแล้ว เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดได้มีประชาชนชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต่างพากันถ่ายรูปคู่กับแจ่งกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ถูกประดับไปด้วยผางประทีปที่สว่างไสวอย่างสวยงาม
สำหรับการจุดผางประตี๊ด ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นการถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้ง จุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ
อีกทั้ง ยังเป็นการบูชาแสงสว่างที่เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประตี๊ด
ชมภาพชุดกิจกรรม "ต๋ามผางปะตี้ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง"
นักท่องเที่ยวไทย-เทศนับหมื่น ร่วมพิธีเปิดงาน ตื่นตาไปกับความงดงามในแบบล้านนา
และแล้วก็มาถึงวันเปิดงานฯ ในวันที่ 14 พ.ย.67 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็งประจำปี 2567
บรรยากาศวันนั้น มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาตินับหมื่นคนออกมาร่วมพิธีเปิด พร้อมกับเดินเที่ยวชมโคมยี่เป็งที่มีการประกวดขึ้นที่ข่วงประตูท่าแพ ที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
ชมภาพชุดพิธีเปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็งประจำปี 2567
นักท่องเที่ยวตื่นตา ขบวนแห่ "สะเปา" ฮีตบ่เก่าของชาวล้านนา (ฮีต ภาษาเหนือ แปลว่า ประเพณี)
วันต่อมา (15 พ.ย.67) มีหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของงานฯ นั่นก็คือ "การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา" ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ ต่อเนื่อง สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักท่องเที่ยวจับจองที่นั่งที่ยืนตลอดทาง ตั้งแต่ประตูท่าแพ ยาวไปจนถึงถนนคชสาร เพื่อรอชมขบวนแห่ "สะเปา"
เมื่อขบวนฯ มาถึง นักท่องเที่ยวต่างตื่นตาตื่นใจไปกับประเพณีที่สวยงามของชาวล้านนา พร้อมเอ่ยปากชมเครื่องแต่งกายที่งดงาม และสะเปาที่ตกแต่งอย่างประณีต
หากใครสงสัยว่า "สะเปา" คืออะไร มีที่มาจากไหน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ >ที่นี่<
ชมภาพชุดขบวนแห่สะเปาล้านนา
ยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนแห่กระทงใหญ่ ยี่เป็งเชียงใหม่ 2567
พอมาถึงวันที่ 16 พ.ย.67 มีอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ปีนี้ ที่ขาดไปไม่ได้นั่นคือ "ขบวนกระทงใหญ่" โดยริ้วขบวนมีความหลากหลาย งดงามยิ่งใหญ่อลังการ นำโดยรถบุษบก ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในขบวน ยังมีนายกเทศมนตรี พร้อมหัวหน้าส่วนข้าราชการ สถานกงสุลประจำจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ร่วมเดินขบวนด้วย ขณะที่ ตลอดสองข้างทาง เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แห่มาชมขบวนกันแน่น
ชมภาพชุดขบวนแห่กระทงใหญ่ ในงานยี่เป็งเชียงใหม่ 2567
เชียงใหม่เอาอยู่รับมือฝ่าฝืนปล่อยโคมลอย
นอกจากงานและกิจกรรมามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทางจังหวัดก็ทำได้ดี นั่นคือ การจัดการกับการฝ่าฝืนปล่อยโคมลอยในพื้นที่รัศมีการบินพื้นที่ 6 อำเภอ 39 ตำบล โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นปัญหามาหลายปี และเคยทำให้เกิดเหตุอัคคีภัยมาแล้วหลายครั้ง
แต่ในปีนี้พบว่า การฝ่าฝืนการปล่อยโคมลอยลดลงไปมาก หากเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีการประชาสัมพันธ์และการ ตั้งจุดดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าแม้จะมีการลักลอบปล่อยโคมลอยอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อห้าม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การฝ่าฝืนปล่อยโคมลอยในพื้นที่ห้ามปล่อยลดลง มาจากการที่ได้มีการไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่สามารถปล่อยได้และขออนุญาตอย่างถูกต้อง อย่างพื้นที่ตำบลเชิงดอย ที่ได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำการปล่อยโคมในวันที่ 15 และ 16 พ.ย. รวม 10,000 ลูก ซึ่งก็ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกไล่เก็บโคมที่ตกตามจุดต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทางด้านเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ มองว่า การปล่อยโคมลอยสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนเป็นอย่างมากยิ่งเป็นช่วงเวลากลางดึก ในปีต่อไปจึงอยากรณรงค์ให้งดการปล่อยโคม และมานำเสนอประเพณีวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมให้กับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นอย่างการหันมาจุดผางประทีป ที่สวยงาม และปลอดภัยมากกว่า
รับชมแบบคลิปวิดีโอ
ภาพ : NationPhoto