วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม มีชุมชนส่วนหนึ่งมีอาชีพที่ไม่เหมือนใคร หรืออาจเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ได้มีการนำ ไส้เดือน ตุ๊กแก และปลิง มาทำการแปรรูปเพื่อสร้างรายได้จากอาชีพเหล่านี้จึงทำให้ ปีหนึ่งมีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท แต่ละฤดูจะมีการแปรรูปสินค้าตามฤดูกาล เนื่องจากเดือนตุลาคมของทุกปี ช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศเริ่มเย็นลง หลังจากหมดฤดูฝนการแปรรูปปลิงตากแห้ง ชาวบ้านหันมาเก็บ ไส้เดือนตากแห้งต่อเลย เพราะเป็นช่วงฤดูหนาว ทำให้ไส้เดือนอพยพที่อยู่ไปอาศัยในที่ชุ่มชื้น โดยชาวบ้านจะเดินป่าเก็บไส้เดือนในช่วงเช้าและเวลากลางคืน
ทางทีมข่าวเนชั่นทีวี สอบถามชาวบ้านกับอาชีพที่แปลกใหม่นี้ ระบุว่า หลังเก็บไส้เดือนดิน ที่ชาวบ้านเรียกว่า ไส้เดือนแดง กับไส้เดือนดำโดยสีของไส้เดือนนั้นขึ้นกับสภาพพื้นดินที่อาศัยอยู่ ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ช่วงอากาศเย็นสามารถเก็บได้วันละ 10–20 กิโลกรัม ขายตัวสดกิโลกรัมละ 30–40 บาท และแปรรูปตากแห้งขายกิโลกรัมละ 500–600 บาท โดยส่งออกไปประเทศจีน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในยาชูกำลัง การแปรรูปไส้เดือนเริ่มจากทำความสะอาด ผ่าท้องเอาดินออกด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านจะใช้เหล็กแหลมเสียบชำแหละ ด้วยความชำนาญ หลังชำแหละจะทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง แช่เปลือกไม้สมุนไพร หรือสารส้มเพื่อล้างเมือก เมื่อสะอาดจนเป็นที่พอใจ นำไปแผ่บนตะแกรงตากแดด 1-2 วัน
ปัจจุบันมีการใช้เครื่องชำแหละที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพ จำหน่ายเครื่องละ ประมาณ 20,000 บาท จากนั้นจะล้างและตากแห้งหรืออบรมควัน ก่อนส่งขายวันละ 30–50 กิโลกรัม พื้นที่นี้ส่งออกไส้เดือนตากแห้งปีละกว่า 10 ตัน สร้างรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนชาวบ้านมีรายได้วันละ 600-1,000 บาทต่อครอบครัว
อาชีพแปลกที่สร้างรายได้มายาวนานกว่า 30 ปี ในช่วงฤดูร้อน ชาวบ้านจะจับตุ๊กแกมาแปรรูปขายสร้างรายได้หมุนเวียนปีละ 100-200 ล้านบาท ปัจจุบันไส้เดือนในพื้นที่เริ่มหายาก ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านปริศนาคนในหมู่บ้านจึงไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น และยังเป็นรายได้หลักนอกจากทำการเกษตรอีกด้วย