วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี สำหรับวันลอยกระทง ปี 2567 ตรงกับวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน
จุดเริ่มต้นของประเพณีลอยกระทง ตามข้อมูลกล่าวว่าเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อ ที่มีต่อธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นดินหรือน้ำ โดยในอดีตมีความเชื่อว่าทั้งแผ่นดิน เเละสายน้ำจะมีผีคอยปกป้อง ดูเเลจึงกลายเป็นคำเรียกที่ว่า “ผีดิน ผีน้ำ” ต่อมามีการปรับการเรียก โดยใช้คำพื้นเมือง นำหน้าว่า “แม่” โดย “แม่” ที่หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ กลายเป็น “แม่พระคงคา”กับ “แม่พระธรณี”
ประเพณีลอยกระทงแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในช่วง หรือยุคสมัยใด แต่ยังเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ยึดถือ ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา โดยวัตถุประสงค์ของการลอยกระทงนั้นมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเพณี ความเชื่อของแต่ละพื้นที่ ทั้งเพื่อเป็นแสดงความสำนึกบุญคุณต่อเเม่น้ำที่ใช้ประโยชน์ การขอขมาต่อพระเเม่คงคา การลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ หรือเพื่อการอธิษฐานขอในสิ่งที่ตนปรารถนา
บทขอขมา - คำถวาย ที่ใช้ในคืนวันลอยกระทง
คำถวายกระทง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
มะยัง อิมินา, ปะทีเปนะ อะสุกายะ, นัมมะทายะ, นะทิยา, ปุลิเน, ฐิตัง, มุนิโน, ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ อะยัง ปะทีเปนะ, มุนิโม, ปาทะวะลัญชัสสะ, บูชา, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, สังวัตตะตุ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอบูชา, ซึ่งรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่เหนือ หาดทราย, ในแม่นํ้าชื่อนัมมทานทีโน้นด้วยประทีปนี้, การบูชารอยพระพุทธบาทนี้, ขอจง เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ”
คำขอขมาต่อพระเเม่คงคา
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
ข้าแต่พระแม่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง (กล่าวขอขมา ขอพรได้ตามปรารถนา)
ประเพณีลอยกระทงไม่ใช่เพียงจัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีที่สะท้อนคุณค่าในหลายประเด็น ทั้งคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน ศาสนา
สุขสันต์วันลอยกระทง 2567 เที่ยวให้สนุก ปลอดภัย อย่าลืมใส่ใจธรรมชาติ
จากเนชั่นทีวี ออนไลน์ :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ ลอยกระทงรักษ์น้ำ รักษ์วัฒนธรรม