ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี
2 พฤศจิกายน 2567
ไม่ควรมีแค่ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ที่โพสต์ข้อความอธิบายสถานการณ์ของตัวเองได้อย่างแจ่มชัด เป็นท่อนหนึ่งของเพลงดังเมื่อราวๆ ยี่สิบปีก่อนว่า “ใครๆ ก็ไม่รักผม แม้แต่พัดลมยังส่ายหน้าเลย”
แต่สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเพื่อไทย ก็น่าจะนิยามได้ด้วยท่อนฮุคของบทเพลงนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากกำลังโดนมรสุมอย่างหนัก จนถามกันให้แซ่ดทั้งเมืองว่า...จะไปรอดหรือไม่ อยู่ครบวาระหรือเปล่า จะยุบสภาเมื่อไหร่
ฉากทัศน์การเมืองที่เป็นไปได้ มี 3 + 1 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น กล่าวคือ
2.เพื่อไทยไม่ได้ไปต่อ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งพรรคใหม่ หรือมีผู้นำการเมืองใหม่ออกมา แล้วมีอุบัติเหตุการเมืองครั้งใหญ่ทำให้เกิดสุญญากาศ เช่น ยุบ 6 พรรค และแกนนำพรรคส้มโดน ป.ป.ช.ฟันเกือบหมด ก็จะทำให้มีช่องของ “รัฐบาลพิเศษ” หรือ “รัฐบาลเฉพาะกาล” มาทำหน้าที่คั่นเวลา
แนวทางนี้มีคนพูดถึงกันเยอะ และอยู่ในความเชื่อของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะฐานเสียงหลักของฝั่งอนุรักษ์นิยม
3.เพื่อไทยอาจไปต่อได้ หรือไม่ได้ไปต่อ แต่มีโอกาสแพ้เลือกตั้งสูง จึงมีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา หวังดึงคะแนนที่มีช่องว่างอยู่ราวๆ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ (จากโพลการเมืองทุกโพล) ไปรวมกับพรรคอนุรักษ์นิยมอื่นๆ และเพื่อไทยที่จะถูกลดบทบาท สร้างเป็นขั้วการเมืองใหม่ขึ้นมาสู้กับพรรรคส้ม โดยที่เพื่อไทยอาจไม่ใช่พรรคแกนนำอีกต่อไป
และยังอาจมีแนวทางที่เรียกว่า 3+1 หรือ 3.1 เพราะเป็นไปได้ยากมาก คือ “สีน้ำเงิน” จับมือกับ “สีส้ม” โดยมีสัญญาประชาคมร่วมกัน ไม่แตะ 112 และสถาบันหลักของชาติ ก็จะเกิดขั้วการเมืองใหม่ขึ้นมาอีกแบบ และทิ้งเพื่อไทยไว้กลางทาง เพราะหมดประโยชน์
ส่วน “รัฐเชิงลึก” หรือที่เรียกกันว่า Deep State ก็ยังกุมบังเหียนได้เหมือนเดิม ผ่าน พรรคสีน้ำเงิน เครือข่ายพรรคอนุรักษ์นิยม และ สว.สีน้ำเงิน
เหตุผลที่ทำให้ข่าวเหล่านี้ขึ้นมาก็เพราะ ทั้งเพื่อไทย นายใหญ่ นายน้อย อยู่ในสภาพ “เดินถอยหลัง” คือแม้จะพยายามเดินไปข้างหน้า แต่ทุกอย่างเหมือนถอยหลัง แถมถูกผูกขาเอาไว้ด้วย “ระเบิดเวลาทางการเมือง” ได้แก่
- นิติสงคราม คดีพรรค คดีส่วนตัว
- นโยบายทั้งหลาย “กลับตัวก็ไม่ได้ ไปต่อไปก็ไปไม่ถึง” ทั้งดิจิทัล วอลเล็ต แก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ฯลฯ
- ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ควาญสีน้ำเงิน สับคอ ช้างแดง” หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 3 พรรค นำโดยภูมิใจไทย (รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์) จับมือกันแน่ และอยู่ในสถานะเหนือกว่าพรรคแกนนำ บังคับวิถีรัฐบาลได้เกือบทุกอย่าง
เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ถ้าสุดท้ายเพื่อไทยจบเห่ ไม่ว่าจะฉากทัศน์ใด จนไม่สามารถเป็น “พรรคหัวแถว” ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ แปลว่า “ฝ่ายอำนาจเก่า - ผู้มีอำนาจตัวจริง” เปลี่ยนแผน เลิกใช้บริการเพื่อไทย และนายใหญ่ เป็นตัวแทนสู้กับ “พลพรรคสีส้ม” แล้วหรือเปล่า
คำถามนี้ เราไม่ได้ตอบเองทั้งหมด แต่ถามจาก “ผู้รู้” หรือ “กูรู” ในแวดวงการเมือง “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. ซึ่งสนิทสนมใกล้ชิดกับอดีตนายกฯมาตั้งแต่วัยเด็ก มองว่า สถานการณ์ระหว่าง อดีตนายกฯ กับฝ่ายอำนาจเก่า ยังไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นสะบั้นความสัมพันธ์ แต่มีความไม่ไว้วางใจ และไม่พอใจกันอยู่
ฝ่ายอำนาจเก่า มองว่าอดีตนายกฯผิดดีล เลยธง ทำหลายเรื่องสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะประเด็นทางความมั่นคงต่างๆ เช่น เอ็มโอยู 44 กระทบถึงเกาะกูด และพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล, ไฟใต้ ตากใบ JCPP เสี่ยงพ่ายบีอาร์เอ็น เสี่ยงเสียดินแดน หรืออย่างน้อยเสียอำนาจการปกครองบางส่วนไป
ล่าสุดคือ มติ ครม.ที่อนุมัติหลักการเร่งรัดแก้ปัญหาสัญชาติ และสถานะบุคคลแก่ผู้อพยพ ซึ่งถูกนำไปผูกโยงกับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่หนักหน่วงอยู่แล้วในปัจจุบัน จนหลายหัวเมืองใหญ่เป็นเมืองของต่างด้าวไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีโครงการประเภทเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ และการนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์ฯไม่ต้องการ
ขณะที่ฟากฝั่งอดีตนายกฯทักษิณ ก็มองว่าผู้มีอำนาจตัวจริง “ผิดดีล” เหมือนกัน เพราะเข้าใจว่าตนยอมกลับไทย ต้องไม่เข้าเรือนจำเลย ต้องได้กลับบ้านทันที แต่ในความเป็นจริงต้องไปนอนโรงพยาบาลตำรวจ ถูกกักบริเวณอยู่ถึง 6 เดือน แถมโดนคดี 112 ผูกขาเอาไว้
เสธ.แมวสรุปว่า ต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝ่ายผิดดีล ตอนนี้จึงเล่นเกมกันไปมา วัดพลังกันไปเรื่อย แต่ยังไม่แตกหัก แต่ความเสี่ยงของฝั่งอดีตนายกฯ มีมาก เพราะมีจังหวะที่คุมไม่ได้ โดยการไป “รบผิดสนาม” คือไปเปิดศึกกับพลังประชารัฐ ซึ่งไม่มีอะไรจะเสีย แถมยังมีศัตรูกลุ่มเดิม เช่น 40 สว. กลุ่มอนุรักษ์นิยม และนักร้องหน้าเก่าๆ พร้อมลุย กลุ่มนี้เล่นแบบสุดซอย ไม่สนใจว่าไล่แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอแค่อดีตนายกฯทักษิณพ้นจากวงจรอำนาจไปก่อน โดยไม่แคร์การเติบโตของพรรคประชาชนด้วย ในทำนองที่ว่า “ไม่สนส้ม ค่อยล้มทีหลัง”
นี่คือความน่ากลัว และสถานการณ์ที่คุมไม่ได้ในสายตาของนักยุทธศาสตร์อย่าง เสธ.แมว ภราดร
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.
อีกด้านหนึ่ง “อาจารย์จ๊ะ” ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย มองบวกกว่า “เสธ.แมว” เล็กน้อย กล่าวคือ เชื่อว่าฝ่ายอำนาจเก่ายังต้องใช้บริการพรรคเพื่อไทย และนายใหญ่อยู่ เพียงแต่ต้อง “ตบๆ ให้เข้าที่” สถานการณ์แบบนี้จึงเกิดสภาวะที่เรียกว่า “การเมืองคุมเชิง” เพราะทุกพรรคไม่พร้อมยุบสภา
อาจารย์จ๊ะ บอกว่า การเมืองก็จะอยู่ในสภาพ “เกาะกันไปแบบนี้ - ชิงความได้เปรียบกันไปเรื่อยๆ” เพราะภูมิใจไทยถึงอย่างไรก็เบ่งให้ใหญ่เท่าเพื่อไทยไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า นาทีนี้จึงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ จับมือ 3 พรรค บวก สว.สีน้ำเงิน บังคับทิศทางรัฐบาล เหมือนควาญสีน้ำเงิน สับตะขอช้างแดง
ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาจารย์ประเมินตามหลักวิชาการเป๊ะๆ โดยบอกว่า รัฐบาลจะอยู่หรือไปอยู่ที่ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่มีน้ำหนักทางลบมากที่สุดคือ งานด้านความมั่นคง แต่อาจารย์ไล่เรียงตัวชี้วัดจากเบาไปหาหนัก
หนึ่ง ผลงานของรัฐบาลในภาพรวม - ปัจจุบันรัฐบาลเริ่มมีผลงานออกมาบ้าง แต่ยังไม่คุ้มกับที่ประชาชนรอ และยังไม่เท่ากับความคาดหวังที่ประชาชนอยากได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ
สอง ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล - พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชี้นำในเชิงนโยบายได้อย่างเต็มที่ แต่ในทางตรงข้าม พรรคร่วมรัฐบาลกลับมีอำนาจต่อรองมากกว่า ทั้งในสภาสูงและสภาล่าง
สาม แนวร่วมนอกสภา - พรรคเพื่อไทยปรับขบวนต่อสู้ในโซเชียลมีเดียมากขึ้น สามารถสร้างและจัดตั้งขบวนการภาคประชาชนให้ออกมาเคลื่อนไหวได้มากกว่าเดิม แต่เป้าหมายยังเป็นไปเพื่อการ “ยัน” กับ “สีส้ม” เท่านั้น ยังไม่ถึงกับสร้างกระแส หรือสร้างฐานใหม่ที่แข็งแกร่งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งได้
สี่ ทิศทางของ “รัฐพันลึก” หรือ รัฐเชิงลึก หรือ Deep State ซึ่งในทางวิชาการบ้านเราหมายถึง “เครือข่ายอำนาจชนชั้นนำ” ปรากฏว่าการดำรงไว้ซึ่งสถานะของอำนาจชนชั้นนำกลับดีขึ้นกว่าเดิม
ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
การใช้บริการจากพรรคเพื่อไทย แม้ว่ายังไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ได้ประมาณ 60% ยังถือว่าไม่ขาดทุน ฉะนั้นโอกาสในการใช้บริการต่อ “ยังมีอยู่” แต่มีข้อแม้ว่า อำนาจเดิมจะต้องได้ผลประโยชน์มากกว่าเดิม และเพื่อไทยเองจะต้องไม่ใช้ประเด็นในเชิงนโยบายสั่นคลอนอำนาจเดิมเสียเอง
และห้า ประเด็นนี้โยงมาจากข้อ 4 คือ เรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เพราะปัญหาของเพื่อไทยคือ ทิศทางนโยบายต่างประเทศหลายนโยบายสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ยกตัวอย่าง การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา และกรณีของการอนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติกับผู้อพยพ
อาจารย์ฐิติวุฒิ ประเมินว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติจะกลายเป็นจุดหักเหสำคัญ ที่มีผลต่อการใช้บริการพรรคเพื่อไทย จาก “รัฐพันลึก” โดยมี กระแสชาตินิยมเป็นตัวชี้ขาด ที่สำคัญนโยบายบางเรื่องของเพื่อไทยก็ไปกระทบฐานภาคประชาชนที่ตนเองสร้างไว้ด้วย ไม่ได้กระทบเฉพาะรัฐพันลึกเท่านั้น
เรื่องนี้จึงสะเทือนต่อการอยู่รอดของรัฐบาลแน่นอน และมีน้ำหนักมากที่สุด ณ เวลานี้!