23 เมษายน 2568 ที่สนามบินแสงตะวัน ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้งที่จะช่วยลดฝุ่น กระเปาะทำฝนเทียม และสาธิตการใช้ UAV ดับเพลิง ของ บริษัท แอร์โร เทคโนโลยี อินดัสทรี จำกัด (Aero Technology Industry Co.,Ltd. หรือ ATIL) หนึ่งในบริษัทร่วมทุนของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI พร้อมรับฟังบรรยายสรุปขีดความสามารถของบริษัทฯ ที่สามารถดำเนินกิจการเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงของภาครัฐและภาคพลเรือน
โดยบริษัท ATIL ได้ทำการบินสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice Dispenser) ที่ช่วยลดฝุ่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นโดยฝีมือคนไทย (Air Show) และการสาธิตกระเปาะทำฝนเทียมที่บรรจุสารดูดความชื้น (Static Show) ที่มีประสิทธิภาพสูงเท่ากับสารโซเดียมคลอไรด์
โดยกระเปาะทั้ง 2 สามารถนำไปบรรจุบนอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV แบบ DP18A เพื่อทำการบินในชั้นบรรยากาศที่จะช่วยบรรเทาภาวะมลพิษของผงฝุ่นละอองและทำให้เกิดฝนเทียม
ทั้งนี้ UAV แบบ DP18A เป็นอากาศยานไร้คนขับเครื่องแรกที่บริษัทฯ สามารถผลิตได้เองภายในประเทศและด้วยฝีมือคนไทย สามารถบินได้สูง บินได้ไกล บินได้นาน และบรรทุกน้ำหนักได้มาก รวมถึงมีระยะวงเลี้ยวที่แคบกว่าอากาศยานปกติ และมีการควบคุม การบินอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง จึงสามารถปฏิบัติการในการบินได้ทุกระยะ จึงมีความเหมาะสมในการทำการบินในชั้นบรรยากาศที่สูง โดยจะช่วยเปิดช่องระบายให้ฝุ่นขนาดเล็กลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ช่วยให้ฝุ่นระบายออก และลดความหนาแน่นลงได้ และจากที่ UAV แบบ DP18A มีเพดานบินที่สูง และไม่จำเป็นต้องมีนักบินขึ้นไปอยู่บนอากาศยาน
จึงมีความปลอดภัยต่อการทำการบินในชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิผกผันสูงในการลดภาวะมลพิษของฝุ่นผงและทำฝนเทียมอีกด้วย อีกหนึ่งคุณสมบัติของ UAV แบบ DP18A คือสามารถปฏิบัติภารกิจในการช่วยบรรเทาสาธารณภัยในภาคพลเรือน และยังสามารถติดอาวุธ สำหรับปฏิบัติภารกิจในการโจมตีเป้าหมาย หรือการลาดตระเวน และอื่น ๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่มีเพลิงไหม้ในพื้นที่ที่หน่วยดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงได้ยาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ UAV บรรทุกลูกระเบิดที่บรรจุสารเคมีที่ช่วยในการดับเพลิง UAV จึงเป็นอากาศยานที่ไม่มีขีดจำกัดในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น วันนี้นอกจากจะมีการสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อช่วยลดฝุ่นจาก UAV แบบ DP18A แล้ว ยังมีการบินสาธิตการทิ้งลูกระเบิดที่บรรจุสารเคมีที่ช่วยในการดับเพลิงจาก UAV แบบ DP9A ที่บริเวณสนามบินแสงตะวันอีกด้วย
จากการสาธิตอากาศยานไร้คนขับที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยของบริษัท ATIL ในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชน ในประเทศไทยที่เกิดจากพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 มีขีดความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถใช้งานได้ทั้งภาคพลเรือนและหน่วยงานด้านความมั่นคงของภาครัฐ อีกทั้งยังช่วย ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจร เปลี่ยนสถานะประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อให้กลายเป็นผู้ผลิตและผู้ขาย เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป