21 เมษายน 2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดทำอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2568
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. แถลงว่า การจัดงาน Expo ไม่ได้จัดทุกครั้งจะมีวาระการจัด ซึ่งครั้งสุดท้ายจัดที่ดูไบ โดยไทยจัดด้วยใช้งบ 1,200 ล้านบาท ส่วนครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ไปจัดงาน Expo 2025 ที่ญี่ปุ่น ด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท ปีนี้งบต่ำกว่าครั้งที่แล้ว โดยการทำครั้งนี้เป็นไปตามระเบียบราชการของประเทศไทย และต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายของญี่ปุ่น และยังต้องทำตามกฎระเบียบเมืองโอซาก้า
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีสบส. กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ว่า ไทม์ไลน์ตั้งแต่ครม.อนุมัติงบประมาณ 867,881,611 บาทเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 จากนั้น 27 เม.ย.2566 มีการกำหนดราคากลางครั้งแรกที่ 867,880,000 บาท โดยใช้วิธีการคัดเลือกแต่ครั้งแรกเอกสารไม่ครบถ้วนทั้ง 3 บริษัทที่เข้ามา โดยเอกสารที่ขาดคือ การแสดงผลงานในส่วนนานาชาติ จึงยกเลิกการจ้างครั้งที่ 1 เพราะไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค. 2566 กำหนดราคากลางใหม่วงเงินเท่าเดิม
ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย.2566 มีบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ( RMA110) จดทะเบียนตั้งบริษัท และกรมฯ ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา (วิธีการคัดเลือกครั้งที่ 2) คือ บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ด้วยวงเงิน 862 ล้านบาทเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 แต่ขณะนั้นมีการร้องเรียนจากบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือก และมีการยื่นอุทธรณ์ แต่ทางกรมบัญชีกลางได้ตอบข้อวินิจฉัยว่า กรมสนับสนุนฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีสบส.
“แต่ด้วยกระบวนการตอบข้อวินิจฉัยเกินราคาเกิน 90 วัน การลงนามทำสัญญาจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องประกาศครั้งที่ 3 แต่ด้วยเวลากระชั้นชิดแล้ว เพราะทางญี่ปุ่นเร่งรัดให้ดำเนินการและต้องแล้วเสร็จ เพราะไทม์ไลน์ก่อสร้างถึงวันที่ 13 เม.ย.เท่านั้น คือวันเปิดงาน จึงต้องใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง เพราะเวลากระชั้นชิด จึงมีกระบวนการสืบราคา โดยส่งจดหมายไปยังผู้ที่เคยมายื่นกับเรา 3 บริษัท แต่คนที่ยื่นกลับมามีเพียงบริษัทเดียว” นายกรกฤช กล่าว
นพ.กรกฤช กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามระเบียบสามารถทำได้ตามระเบียบพัสดุ และจำเป็นต้องใช้ราคาของบริษัทนั้นด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง คือวงเงิน 867,800,000บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ถึง 1% และจากนั้นก็ประกาศให้ทางบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก และขอยืนยันว่า ทางกรมสนับสนุนฯไม่ได้รับธุรกรรมใดๆจากบริษัท กิจการร่วมค้า แม้แต่เรื่องเดียว
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่า บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เพิ่งเปิด แต่พอได้งานกลับปิด ไม่มีผลงานนั้น ข้อชี้แจงว่า งานนี้เป็นงานต่างประเทศ ต้องใช้ผลงานประสบการณ์ที่เคยทำมา ซึ่งบริษัท ไร้ทแมน มีผลงานในต่างประเทศ ที่มิลาน ประเทศอิตาลี 2015 จึงมีการร่วมกันทำกับบริษัท สถาปนิก 110 จึงร่วมกันทำในรูปแบบ “บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด”
นายอุปถัมป์ กล่าวอีกว่า หากดูไทม์ไลน์การประมูลครั้งที่ 1 วันที่ 22 เม.ย.2566 ที่มีจดหมายเชิญ และในวันที่ 16 ก.พ.2567 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นงานทั้ง 3 ครั้ง ส่วนที่ว่าจดทำไม และต้องใช้ชื่อเดียวกัน ก็ต้องเรียนว่า การทำงานต่างประเทศต้องใช้นิติบุคคล และการจัดนิทรรศการในต่างประเทศ บางส่วนเอากลับมาได้ต้องเอากลับมา แต่จะทำได้จะมีระเบียบของกรมศุลกากร ซึ่งกิจการร่วมค้าไม่สามารถทำได้ เป็นเรื่องการบริหารภายใน ด้วยข้อจำกัดของกิจการร่วมค้าจะทำลักษณะข้างต้นไม่ได้ ต้องทำในรูปบริษัท เราจึงจัดตั้งขึ้น แต่ทางบัญชีให้คำปรึกษาว่า จะซ้ำซ้อนหลายขั้นตอน มีเรื่องภาษี จึงให้ใช้บริษัทใดบริษัทหนึ่งดำเนินการแทน ทำให้เรายกเลิกบริษัท กิจการร่วมค้าฯ ดังกล่าว
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110
“สรุปคือ บริษัทกิจการร่วมค้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญญาครั้งนี้ และ บริษัท กิจการร่วมค้า RMA110 ถูกตั้งขึ้นมาไม่มีนิติกรรม ไม่มีการเซ็นสัญญากับใคร หรือกับทางราชการ ดังนั้น หากเปิดไว้ไม่ได้ใช้ก็ควรจะปิด ดังนั้น ในสัญญาการจ้างงาน ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับกิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ซึ่งมีสัญญากิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และบริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด แต่ ไม่เกี่ยวกับบริษัท กิจการร่วมค้าแต่อย่างใด” นายอุปภัมป์กล่าว
ถามว่า บริษัทจำกัดตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร นายอุปถัมภ์ กล่าวว่า ในส่วนของกิจการร่วมค้านั้นมีวัตถุประสงค์ ชัดเจนในการทำสัญญากิจการร่วมค้า จัดกิจการร่วมค้ากันเพื่อใช้สำหรับการประมูลงาน การจัดแสดงนิทรรศการที่โอซาก้า ทุกครั้งที่มีการยื่นงานหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ใช้กิจการร่วมค้า สำหรับบริษัทจำกัดนั้นเป็นนิติบุคคล ซึ่งจดที่กระทรวงพาณิชย์ แรกเริ่มตอนคิดว่าจะได้งานนี้ ก็ไปศึกษาเรื่องของการส่งของโดยติดต่อบริษัทญี่ปุ่น พบว่า การส่งของนั้นหากเป็นไปในรูปแบบบริษัทก็จะดี แค่นั้นเอง แต่บริษัทนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาครั้งนี้เลย บริษัทถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ผู้บริหาร ซึ่งเป็นกิจการภายในเหมือนที่อธิบายข้างต้น
เมื่อถามว่า ทำไมต้องตั้งชื่อเหมือนกัน นายอุปถัมป์ กล่าวว่า เบื้องหลังจริงๆตนกับคุณอาร์ม นายชยาวุฒิ เป็นเพื่อนสนิทกัน เรียนสถาปัตย์จุฬา เมื่อออกมาทำงานนี้ เลยจดบริษัทด้วยกันเผื่อทำงานอื่นด้วย เพราะการทำงานในรูปแบบบริษัทในต่างประเทศจะง่ายกว่า กิจการร่วมค้าเท่านั้นเอง เลยคิดว่าอันนี้น่าจะช่วยได้ แต่มาตอนหลังทางบัญชีบอกว่าไม่มีประโยชน์ กลับเป็นภาระมากกว่าไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ทางกฎหมายหลายขั้นตอน
สบส.ยันไม่มีเงินทอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า สส.พรรคประชาชนออกมาพูดข้อมูลว่าโครงการนี้อาจจะมีเรื่องของเงินทอน ระหว่างบริษัทเอกชนกับทางกรมหรือไม่ นพ.กรกฤช กล่าวว่า ทางกรมขอยืนยัน เอกสารทุกอย่างเราดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและสามารถตรวจสอบได้ ถ้าช่องทางหลักๆเลยก็คือเว็บไซต์ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้
"ในส่วนของเงินทอนนั้น ผมในฐานะเป็นผู้บริหารกรม เป็นรองอธิบดีขอยืนยันตรงนี้ว่าทางกรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างใดๆ ในเรื่องของเงินทอน ผมยืนยันทุกวันนี้ แม้กระทั่ง การเดินทางยังไม่ให้เขามารับจากสนามบินเราไปเอง นั่งรถไฟไปและก็มีหลักฐานว่าผมนั่ง รถไฟจากสถานีคันไซมาที่บ้านพักด้วยตัวเอง ไม่มีการรับส่งใดๆ" รองอธิบดี สบส. กล่าว
ไม่ใช่ทุนจีน ไร้นอมินี
ผู้สื่อข่าวถามบริษัทว่ามีคนตั้งคำถามว่า บริษัท กิจการร่วมค้าฯ ตั้งขึ้นด้วยทุน 1 ล้านและยกเลิก จึงถูกโยงทุนจีน นายอุปถัมป์ กล่าวว่า ไม่มีทุนจีน ทุกอย่างเป็นไปตามที่อธิบายชี้แจงข้างต้น
“กิจการร่วมค้าฯ ยื่นงานนี้ได้ เพราะใช้บริษัทไร้ทแมน ในการนำเสนอราคา และใช้ผลงานอ้างอิงโดยบริษัทไร้ทแมน และที่เราไม่ยื่นเอง แต่ผู้เดียว เพราะเนื้องานในโอซาก้า ประกอบด้วยการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมในตปท.และญี่ปุ่น และการนำเสนอเรื่องนิทรรศการ ซึ่งบริษัท ไร้ท์แมน เป็นอีเว้นท์ออแกไนซ์เซอร์ ทำงานด้านนี้มานานปีนี้เป็นปีที่ 35 จึงต้องการความเชี่ยวชาญมากขึ้นจึงต้องรวมบริษัท สถาปนิกฯ มายื่นงานนี้” นายอุปถัมป์ กล่าว