svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฮือฮา“สมโภชน์ โตรักษา” อดีตสื่อ มือตรวจสอบช่องดัง สมัครชิงเก้าอี้"คตง."

21 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็น"กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" แทนตำแหน่งที่ว่าง ฮือฮา อดีตสื่อมือตรวจสอบปราบโกง "สมโภชน์ โตรักษา" ลงสมัครชิงเก้าอี้ "คตง."

21 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า  หลังจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (แทนตำแหน่งที่ว่าง) จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 3 - 29 เมษายน 2568 โดยผู้สมัครสามารถยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ในวันและเวลาราชการ ณ จุดรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ห้องศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) เขตดุสิต กรุงเทพฯ นั้น

 

ผลการรับสมัคร ณ วันที่ 21 เมษายน 2568 มีผู้สมัครแล้วจำนวน 5 คน ได้แก่ 

1. นายสิทธิพร เศาภายน อายุ 64 ปี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านคดี สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (สมัครด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน)

2. นางวิภาภรณ์ ชัยรัตน์ อายุ 62 ปี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต อดีตรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (สมัครด้านบัญชี ด้านการตรวจสอบภายใน ด้านการเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน)

3. นายสมพล กาญจนโสภณ อายุ 66 ปี กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 สำนักงาน ป.ป.ช. (สมัครด้านกฎหมาย)
 

4. นายอาทร เจียมเด่นงาม อายุ 65 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (สมัครด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน)

และ 5. นายสมโภชน์ โตรักษา อายุ 57 ปี กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอส) (สมัครด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน)

สมโภชน์ โตรักษา  สื่อมวลชนอาวุโส มือตรวจสอบการกระทำทุจริต สมโภชน์ โตรักษา สื่อมวลชนอาวุโส มือตรวจสอบการกระทำทุจริต

โดยเฉพาะ รายที่ 5 นายสมโภชน์ โตรักษา นั้น เป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล - รัฐสภา ในช่วงที่สังกัดสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โดยมีผลงานการนำเสนอข่าวมากมาย

โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ของนักการเมืองท้องถิ่นไปถึงนักการเมืองระดับชาติ ที่ส่อกระทำการทุจริต โดยได้มีการติดตามการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน ในการร่วมลงพื้นที่ และติดตามคดีต่างๆ จน ป.ป.ช.ชี้มูลผู้กระทำผิด เรียกว่า เป็นสื่อที่กัดไม่ปล่อยต่อประเด็นผู้กระทำการทุจริต ซึ่งนายสมโภชน์  ยังได้รับรางวัล สื่อมวลชนด้านการตรวจสอบทุจริต จากหลายองค์กรที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต 

 

logoline