svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มัดรวมสาระสำคัญ พ.ร.ก.ไซเบอร์ 2568 ยกระดับปราบโจรออนไลน์

15 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

รวมสาระสำคัญ พ.ร.ก.ไซเบอร์ 2568 ยกระดับปราบโจรออนไลน์ เพิ่มอำนาจ จนท.รัฐ สั่งการสถาบันการเงิน ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ ฝ่าฝืนมีโทษ เหยื่อได้เงินคืนเร็วขึ้น

15 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนด 2 ฉบับ มุ่งเน้นเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ 2.พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหามีการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถอายัด สืบค้นข้อมูลการกระทำความผิด คืนเงินให้กับผู้เสียหายรวดเร็วขึ้น รวมทั้งกำหนดโทษและการรับผิดของสถาบันการเงินและค่ายโทรศัพท์มือถือด้วย

 

โดย พ.ร.ก.ไซเบอร์ 2568 ฉบับใหม่ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

 

  1. สกัดกั้นช่องทางมิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรม เช่น ซิมผี บัญชีม้า ส่ง SMS แนบลิงก์หลอกลวง
  2. เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น ศูนย์ AOC ธนาคาร ตำรวจ กสทช. ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ 
  3. เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิด 
  4. สร้างมาตรการให้ทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบ ลดมูลค่าความเสียหาย
  5. กำหนดให้ ปปง. เป็นหน่วยงานหลักกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขเยียวยาความเสียหายต่อประชาชน

มัดรวมสาระสำคัญ พ.ร.ก.ไซเบอร์ 2568 ยกระดับปราบโจรออนไลน์

 

พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1. ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ บัตรประชาชน บัญชีธนาคาร เบอร์โทรศัพท์ ห้ามนำไปใช้กระทำความผิด

 

บุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ บัญชีม้า โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2. ค่ายโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น มีหน้าที่ตรวจสอบและคัดกรอง SMS ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

 

3. เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถสั่งให้ สถาบันการเงิน ธนาคาร หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ อายัดบัญชี ระงับซิม หยุดธุรกรรม หรือขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ รวมทั้งเปิดทางให้หน่วยงานรัฐ ธนาคาร ค่ายโทรศัพท์มือถือ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อหยุดยั้งการกระทำผิด

 

4. สามารถคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอศาล โดยหน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) , สถาบันการเงิน หรือ ธนาคาร ฯลฯ รายงานข้อมูลให้ ปปง. ตรวจสอบ และมีอำนาจ อายัดเงินในบัญชีที่เกี่ยวข้องไว้ก่อน โดยเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล

 

 

5. สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารต้องรับผิดร่วม ในความเสียที่เกิดขึ้น ถ้าประชาชนถูกหลอก

  • หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่หน่วยงานรัฐกำหนด หรือไม่ให้ความร่วมมือในการสืบสวน โทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • หากละเลยคำสั่ง หรือเพิกเฉย จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

6. ค่ายโทรศัพท์มือถือและแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องรับผิดร่วมต่อความเสียที่เกิดขึ้น เช่นเดียวสถาบันการเงิน ต้องมีมาตรการป้องกันซิมผี หรือซิมลงทะเบียนไม่ถูกต้อง หากไม่ทำตาม มีโทษเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน

 

นอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนีั ให้เพิ่มนิยามที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้ครอบคลุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บ และบัญชีสินทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568

 

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1.การขออนุญาตประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่บุคคลในราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุญาต หากไม่ได้รับอนุญาตจะต้องรับโทษอาญา

 

2.การกำหนดลักษณะการให้บริการ ที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร เพื่อใช้ระบุว่าผู้ประกอบธุรกิจนอกราชอาณาจักรรายใดต้องขออนุญาต

logoline