10 เมษายน 2568 ในที่สุด “รัฐบาลแพทองธาร” ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ควงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล แถลงเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไปก่อน จากเดิมจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม “สภาผู้แทนราษฎร” ในวันพุธที่ 9 เม.ย. ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุม ในวันที่ 11 เม.ย. 2568
ดิฉันในฐานะหัวหน้ารัฐบาล อยากให้พรรคร่วมเกิดความสบายใจ และอยากให้เห็นด้วยด้วยความเต็มใจ นี่คือการนำแบบของดิฉันเอง...อยากให้ทำด้วยความรู้สึกตรงกัน เพื่อที่ทุกคนจะได้ทำงาน 100%
พร้อมระบุว่า "เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยืนยันเราไม่ถอย แต่ตอนนี้บังเอิญมีเรื่องด่วนเข้ามา เช่น เรื่องแผ่นดินไหว ที่เราต้องเยียวยาดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการขึ้นภาษีของสหรัฐ ที่ยังต้องแก้ปัญหา เอาเรื่องสำคัญก่อน อยากทำเรื่องนี้ให้แข็งแรง ถ้าเช่นนั้นเอาเรื่องสำคัญก่อนดีกว่า เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อธิบายน้อยไป ก็จะใช้เวลา 2 เดือนระหว่างปิดสมัยประชุมสภาฯ ไปอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี"
อย่างไรก็ตาม มีรายงานถึงสาเหตุที่รัฐบาลต้องเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ปัญหาในรัฐบาลเอง” เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค แสดงท่าทีว่าจะ “งดออกเสียง” หากมีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมในวาระแรก
พรรคแรกคือ พรรคภูมิใจไทย หรือ พรรคสีน้ำเงิน
โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 เม.ย. 2568 ซึ่ง พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา
นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้ใช้เวลาช่วงต้นอภิปรายกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่เปิดโอกาสให้อภิปรายในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน พร้อมชื่นชมว่านายกรัฐมนตรีได้แสดงภาวะผู้นำอย่างแท้จริง และให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด
นายไชยชนก ยังได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนต่อที่ประชุมว่า จะไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับกาสิโน
“ผม นายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของนายเนวิน และ นางกรุณา ชิดชอบ ขอยืนยันว่า จะไม่มีวันเห็นด้วยกับการเปิดกาสิโน เพราะยังมีเรื่องเร่งด่วนและสำคัญยิ่งกว่าที่ควรได้รับการแก้ไข”
ขณะที่ “พรรคอนุรักษ์นิยม” อีก 1 พรรค ที่อยู่ในรัฐบาล แม้จะไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะเอาด้วยหรือไม่เอาด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ก็มีแนวโน้มที่จะ “งดออก” เสียง
ท่าทีของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ถือว่ามีน้ำหนักมากที่สุด ที่ทำให้รัฐบาลต้อง “ถอย” เรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สายสีน้ำเงิน ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการทำ “ประชามติ” ต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงและประโยชน์สาธารณะ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 172 รวมถึงความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1
การที่รัฐบาลยอม “ถอนฟืนออกจากกองไฟ” เลื่อนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป ถือเป็นการลดกระแสความร้อนแรงของการต่อต้าน “กาสิโน” ไปได้ระดับหนึ่ง
ไปรอลุ้นกันอีกทีเมื่อ "เปิดสภา" วันที่ 3 ก.ค. 2568 หรือรอไปอีก 3 เดือน ว่า จะมีการหยิบยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาได้เลยหรือไม่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงเหตุผลการเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญ ในเรื่องเฉพาะหน้า ทั้งกรณีสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษี และกรณีแผ่นดินไหว ที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะการเยียวยา
จึงได้มีการพูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีข้อสรุปให้แต่ละพรรค ไปพูดคุยกันในการพิจารณาร่างกฎหมาย อาจมีการปรับเปลี่ยน โดยในวันพุธที่ 9 เมษายน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาเรื่องการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ทัน การประชุมสภาสมัยนี้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต่างยืนยันที่จะให้การสนับสนุนไม่ได้มีปัญหา
ทั้งนี้ถือเป็นการดีที่มีการเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ รัฐมนตรีทุกคนช่วยกันชี้แจง ระยะเวลาจากนี้ไปจนถึงเปิดสมัยประชุมสภา ครั้งหน้า (เปิดสภา 3 ก.ค. 68) เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำความเข้าใจ กับประชาชนที่ยังมีประเด็นสับสน
เพราะยังมีบางกลุ่ม บอกว่าเป็นเรื่องของการพนันกาสิโนอย่างเดียวซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่ ที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศ
ส่วนจะต้องมีการทำประชามติร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่นั้นนายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้ดำเนินการลำบาก และต้องเข้าใจกฎหมาย เพราะร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว 4 ครั้ง และได้รับความเห็นชอบ 80% ส่วนจะดำเนินการขั้นตอนอื่นหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มีขั้นตอนของกฎหมายอยู่แล้ว
ยืนยันครั้งนี้ไม่ใช่การพับการพิจารณา เพราะอยู่ในระเบียบวาระอยู่แล้ว และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ครั้งใหม่ ก็จะนำขึ้นมาพิจารณาได้ แล้วเมื่อถึงเวลานั้น น่าจะมีความเข้าใจมากกว่านี้
ส่วนจะต้องมีการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า คงไม่ต้อง น่าจะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และการแก้ไขกฎหมายก็สามารถทำได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนที่ สว. ขู่ว่าหากสภาผู้แทนราษฎรรับร่างกฎหมายดังกล่าวจะไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. นายจุลพันธ์ กล่าวว่า จะหาเวลาไปพูดคุยกับ สว