svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศ.ไชยันต์ ไชยพร" ลงสมัครชิงเก้าอี้ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

มาแล้ว! นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แถวหน้า "ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร" ดอดลงสมัครชิงเก้าอี้ "ตุลาการศาล รธน." ในวันจักรี

6 เมษายน 2568  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  "ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร" ได้โพสต์ข้อความและภาพจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ผ่านเฟสบุ๊ค  โดยระบุว่า  "วันนี้วันดี วันจักรี  มาสมัครในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครับ"  

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเนชั่น" ได้สอบถามข้อเท็จจริงจาก"ศาสตราจารย์ไชยันต์  ว่าเดินทางไปสมัครจริงใช่หรือไม่ "ศาสตราจารย์ไชยันต์" ยืนยันว่า "สมัครไปแล้วครับ"

\"ศ.ไชยันต์ ไชยพร\" ลงสมัครชิงเก้าอี้ \"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ\"

สำหรับ ประวัติ "ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร"  เกิด 18 กันยายน พ.ศ. 2502  เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักกันในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน 

ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร  นักวิชาการประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการฉีกบัตรเลือกตั้งภายหลังจากใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป ที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร การกระทำดังกล่าวเป็นการประท้วงต่อการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ศาสตราจารย์ไชยันต์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาทำลายบัตรเลือกตั้งและทำให้เสียทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ศาลจังหวัดพระโขนงได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งในปี 2549 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ "ศาสตราจารย์ไชยันต์"  ยังเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์และนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ อีกมากมาย

"ศาสตราจารย์ไชยันต์" นับเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แถวหน้า ที่นอกเหนือจากการให้มุมมองความเห็นวิเคราะห์การเมืองอย่างแหลมคมแล้ว  ศาสตราจารย์ไชยันต์  เป็นนักวิชาการที่รณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎระเบียบวินัยจราจร

โดยเฉพาะการให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องหยุดรถ บริเวณทางม้าลาย อย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีผู้ใช้รถใช้ถนนฝ่าฝืนวินัยจราจรบริเวณทางม้าลาย จนทำให้ประชาชนต้องประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ล่าสุด ยังได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊คต่อกรณีที่รัฐบาลผลักดันร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ด้วยการเทียบเคียงกับกฎหมายจราจรทางบก

 

ศาสตราจารย์ไชยันต์ ให้ความเห็นไว้ดังนี้

บังคับใช้กฎหมายได้จริงหรือ ?

ร่าง พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

พ.ศ…….

…………..

มาตรา ๙๙ ผู้ใดจัดให้มีการเล่นพนันในกาสิโนผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือถ่ายทอดการเล่นพนันในกาสิโน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗๘ ซึ่งประกอบกิจการกาสิโนต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

--------------

พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565

ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (เดิม ปรับ 500-1,000 บาท)

ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

///////////////////////

แค่จับปรับรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ยังทำไม่ได้เล้ย ????!!!

\"ศ.ไชยันต์ ไชยพร\" ลงสมัครชิงเก้าอี้ \"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ\"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานฯ ได้ออกประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง 2 ตำแหน่ง ภายหลังจากที่วุฒิสภาได้ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อก่อนหน้านี้ ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568

การรับสมัครครั้งนี้เปิดรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดตำแหน่งที่ต้องการดังนี้

ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขารัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 ตำแหน่ง

ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือรองอัยการสูงสุด มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 1 ตำแหน่ง

ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ โดยสามารถยื่นใบสมัครด้วยตนเองระหว่างวันที่ 3 – 9 เมษายน 2568 ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

\"ศ.ไชยันต์ ไชยพร\" ลงสมัครชิงเก้าอี้ \"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ\"

อนึ่ง รายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหา เป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2568 

ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ( 4 ) ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร ศาสตราจารย์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร

2. ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร ที่เพิ่งลงสมัครวันนี้ ( 6 เมษายน 2568 )

สำหรับการเปิดรับสมัครตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568  ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน คือ น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงศุล และอดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก แทนตำแหน่งที่ว่าง

หลังจากที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเป็นการลับ ต่อรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม นานกว่า 2 ชั่วโมง 20 นาที แล้วจึงเป็นการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่

นายมงคล ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าบุคคลที่จะได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว.ที่มี ปัจจุบันมี สว.ทำหน้าที่ 199 คน ดังนั้นต้องได้ 100 คะแนนขึ้นไป

สำหรับการลงคะแนนจะใช้การลงคะแนนลับด้วยเครื่องออกเสียง จากนั้นจึงให้สว.แสดงตน โดยพบว่ามี สว.ที่แสดงตนจำนวน 189 คน

สำหรับผลการลงมติพบว่า น.ส.สิริพรรณ ได้รับคะแนนเห็นชอบ 43 เสียง ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 7 เสียงและไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ขณะที่นายชาตรี ได้รับคะแนนเห็นชอบ 47 เสียง ไม่เห็นชอบ 115 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 คน

โดยนายมงคล แจ้งว่าการลงคะแนนดังกล่าวถือว่า น.ส.สิริพรรณ และนายชาตรี ไม่ได้รับความเห็นชอบ เพราะได้คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว.

ส่งผลให้ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ต้องออกประกาศ รับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 3 - 9 เมษายน 2568