svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดคำแถลงสว. แฉยับ มีขบวนการล้มสว. เตรียมยื่นอภิปราย"ทวี"

เปิดคำแถลงสว. ปม"ดีเอสไอ"จ้องสอบ"คดีฮั้วเลือกสว." แฉยับมีขบวนการทางการเมืองในรัฐบาล หวังล้มสว. เตรียมเข้าชื่อ ตาม ม.153 อภิปรายทั่วไป "ทวี สอดส่อง "

24 กุมภาพันธ์ 2568  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ สมาชิกวุฒิสภานำโดย นายมงคล สุรัจสัจจะ ประธานวุฒิสภา  นัดหมายประชุมวิปวุฒิ โดยมีวาระเกี่ยวกับกรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เตรียมพิจารณาคำร้อง คดีฮั้วเลือกสว. จะรับไว้เป็นคดีพิเศษ หรือไม่  พร้อมกับเตรียมแถลงให้สื่อมวลชนรับทราบ

 

ล่าสุด  สมาชิกวุฒิสภา ได้จัดเตรียมคำแถลงต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้ โดยเริ่มจาก การแจกแจงประเด็นทางข้อกฎหมายว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบ ต้องเป็นหน้าที่ของกกต.  รวมถึงเปิดเผยเบื้องหลังที่เกิดประเด็นร้อนดังกล่าว มีขบวนการจ้องล้มสว. พร้อมกับเตรียมเข้าชื่อตามมาตรา 53 ยื่นอภิปรายทั่วไป "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม

เนื้อหาคำแถลง ระบุว่า  กรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตั้งข้อกล่าวหาสมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากขบวนการซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญา กรรม และจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ให้พิจารณาและมีมติรับเป็นคดี “กระทำความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอ

ในฐานะ ประธานวุฒิสภา และ ในนามของรองประธานวุฒิสภา ทั้งสองท่าน และ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 โดยได้รับการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา วันที่ 27 กรกฎาคม 2567

ในฐานะรองประธานวุฒิสภา ผมต้องปกป้องศักดิ์ศรีของวุฒิสภา และ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ "กระทำความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร" และต้องยืนยันหลักการ และกระบวน เลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่กระบวนการที่เป็นภัยต่อความั่นคงในราชอาณาจักร

สมาชิกวุฒิสภา 200 คน ประกอบด้วยอดีตข้าราชการ และ ประชาชนสาขาวิชาชีพต่างๆ จำนวน 20 กลุ่มอาชีพ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กกต. กำหนด อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ด้วยความสุจริต ตั้งแต่สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

แฟ้มภาพ  นายมงคล สุระสัจจะ ประธานสว.พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์  บุญส่ง น้อยโสภณ สองรองประธานสว.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบการกระทำการต่างๆ ของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามที่มีผู้ร้อง ตั้งแต่รับสมัคร จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีการตรวจสอบ และ สมาชิกวุฒิสภาหลายท่าน ยังถูกกกต. ตรวจสอบ แม้จะได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ แล้ว แต่ก็ยังต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับกกต. ซึ่งเป็นรูปแบบเดียว กับการเลือกตั้งทุกระดับ ที่กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 41-49 กำหนดไว้ชัดเจน การสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีผู้กระทำความผิด เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เท่านั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีเลือกตั้ง เว้นแต่กกต. จะมอบอำนาจให้ทำ แต่เมื่อทำแล้วก็ต้องส่งสำนวนให้กกต.ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่กกต. มีหนังสือแจ้ง ตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

แต่จากข่าวสื่อมวลชนนำเสนอ ทราบว่ากกต.ยังไม่มีมติมอบอำนาจให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จึงมีเหตุต้องตั้งคำถามว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้อำนาจตามกฎหมายใด ทำการสืบสวนสอบสวน หลังจากได้รับคำร้องจากผู้ร้อง

 

มีข้อพึงสังเกตจากเอกสารประกอบการพิจารณาที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ คือ เหตุที่กรมสอบสวนสืบสวนคดีพิเศษ เข้ามาทำคดีนี้ เพราะมีผู้ร้องว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ไม่สุจริต และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ กระทำความผิดเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

มีการบรรยายว่าเป็นการกระทำในลักษณะองค์กรอาชญากรรม แต่ไม่มีการระบุว่า ผู้กระทำความผิดประกอบด้วยใครบ้าง ใครทำหน้าที่อะไร และ มีพยานหลักฐานอะไรบ้าง ได้มาอย่างไร ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เคยเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน มาก่อน ชี้ว่าเป็นกระบวนการที่มีความผิดปกติ

ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภา จะติดตามการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ 22 ท่าน แต่ละท่านจะพิจารณามีมติเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยเหตุผลอย่างไร ซึ่งหากทำให้วุฒิสภา และ สมาชิกวุฒิสภา ได้รับความเสื่อมเสีย สมาชิกวุฒิสภา จะดำเนินคดีถึงที่สุด และจะพิจารณายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการปปช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการคดีพิเศษ ต่อไป

 

จากการหาข้อมูลและข่าวสารของสมาชิกวุฒิสภา ได้นำมาประมวลวิเคราะห์ ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิ สภา หรือ วิปวุฒิสภา พบว่า ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและผู้มีอำนาจครอบงำรัฐบาล โทรศัพท์กดดันกรรมการคดีพิเศษหลายท่านให้ลงมติรับคดีนี้ เป็นคดีพิเศษตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอ โดยเฉพาะคณะ กรรมการผู้ทรง คุณวุฒิ 9 คน ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติอนุมัติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งการคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้มีมติกล่าวหาวุฒิสภา และ สมาชิกวุฒิสภา โดยมีวัตถุประสงค์บ่อนทำลายวุฒิสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ

เหตุที่ต้องมีการกดดันให้ลงมติรับเป็นคดีพิเศษ ในลักษณะเรียกร้องให้ตอบแทนบุญคุณที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรม การคดีพิเศษ เนื่องจากการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

นับแต่รับคำร้องเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จนถึงขณะนี้ เป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ และกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่ง กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของกกต. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซง ครอบงำ และกดดันองค์กรอิสระ

เมื่อได้รับแจ้งจากเลขาธิการกกต. ว่า กกต. ยังไม่มีมติมอบอำนาจให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีแทนกกต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงต้องขอมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้รับเป็นคดีพิเศษ แต่มีการเปลี่ยนฐานความผิดจากคดีเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่สุจริต เป็นคดีภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องมีมติเห็นด้วย 2 ใน 3 ของจำนวนกรรม การทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งเท่ากับ 15 เสียง จึงต้องมีการล็อบบี้ กดดัน และทวงบุญคุณจากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา และทราบว่าวันนี้ กรรมการคดีพิเศษที่เป็นข้าราชการประจำ จะถูกเรียกพบ และให้รอรับโทรศัพท์จากผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อให้ลงมติตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอ

พฤติกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตลอดจนเครือข่ายผู้มีอำนาจในรัฐบาล และ ผู้มีอำนาจครอบงำรัฐบาล ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ มีลักษณะเป็นขบวนการหรือองค์กรกระทำการทั้งเปิดเผยและทางลับ

โดยมีวัตถุประสงค์บ่อนทำลายวุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ สร้างพยาน หลักฐานเท็จ มาแจ้งข้อกล่าวหา สร้างความเสื่อมเสียแก่สมาชิกวุฒิสภา และ กล่าวหาว่ากระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสภา ซึ่งเป็นกระบวน การที่กฎหมายกำหนด ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเป้าหมายล้มล้างวุฒิสภา และทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นโมฆะ ทั้งๆ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่มีอำนาจหน้าที่

พฤติกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามที่กล่าวมานี้ จึงน่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะพิจารณาแจ้งความดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการคดีพิเศษ และ บุคคลในเครือข่ายทุกคน ซึ่งจากการหาข่าว และรวบรวมข้อมูล พบว่ามีหัวหน้าพรรคการเมือง 1 ท่าน ที่ปรึกษาพรรคการเมือง 1 ท่าน อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะแจ้งความดำเนินคดีทันที เมื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐานระบุพฤติกรรม ได้ครบถ้วน

สมาชิกวุฒิสภาจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา แสวงหาข้อมูล และรวบรวมพยานหลักฐานของผู้ที่อยู่ในองค์กรและเครือข่ายที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายวุฒิสภา และขอเรียนว่าการดำเนินการของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่การตอบโต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง 2 ท่าน ซึ่งพบว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ และมีเจตนาล้มล้างองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ

หากการตรวจสอบพบว่ามีบุคคลใด หรือ หน่วยงานใด หรือ องค์กรใด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ก็ตาม ให้การสนับสนุน หรือให้ความร่วมมือกับการกระทำความผิดของทั้ง 2 ท่าน สมาชิกวุฒิสภา จะดำเนินคดีถึงที่สุด เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีวุฒิสภา และ ป้องกัน ไม่ให้ฝ่ายบริหาร หรือองค์กรฝ่ายบริหาร ใช้อำนาจมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ ที่เป็นการบ่อนทำลายฝ่ายนิติบัญญัติ

ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ให้เร่งจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ก่อนที่จะมีการขยายผล และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประสานงาน และความร่วม มือกัน ในอนาคต

วุฒิสภา โดยประธานคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทุกคณะ จะพิจารณาเชิญบุคคล และผู้แทนหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอให้มีมติ และการมีมติรับเป็นคดีพิเศษ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องแต่ละท่าน ว่าเป็นไปโดยสุจริต ด้วยความเป็นอิสระ หรือ มีที่มาจากเหตุปัจจัยอื่นหรือไม่

เพื่อความเป็นธรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีโอกาสชี้แจงให้สมาชิกวุฒิสภา และ ประชาชน ทราบ การปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการ สมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ที่มีอยู่ จะเข้าชื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการเปิดอภิปรายการทำงานของกระทรวงยุติธรรม ในทุกๆ เรื่องที่ สมาชิกวุฒิสภา มีข้อสงสัย และพี่น้องประชาชน ต้องการคำตอบ ทุกๆ กรณี

หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถชี้แจงได้เป็นที่น่าพอใจ และพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม สมาชิกวุฒิสภา จะเข้าชื่อยื่นถอดถอน เสนอประธานวุฒิสภา เพื่อนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไป และ หากพบว่ามีรัฐมนตรีท่านใด ให้การสนับสนุน หรือร่วมกระทำความผิดด้วย ก็จะเข้าชื่อยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกัน

แนวทางและมาตรการต่างๆ ที่สมาชิกวุฒิสภาจะนำมาใช้ตรวจสอบกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่มาตรการปิดปาก แต่ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคน ได้เปิดปาก ได้พูด ได้แสดงความเห็น ได้แสดงหลักฐาน ประกอบการพิจารณาคดี และ เป็นการทำเรื่องลับที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวอ้าง ให้เป็นเรื่องเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งกระบวนการที่วุฒิสภา นำมาใช้ เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามระบบรัฐสภา