svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กต.เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น MOU44 วางแผนเจรจาให้สำเร็จ

รมว.กต.ย้ำรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามกรอบ MOU – เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น-วางแผนเจรจาให้ประสบความสำเร็จ

:: รมว.กต.ย้ำรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามกรอบ MOU – เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น-วางแผนเจรจาให้ประสบความสำเร็จ – ย้ำรัฐสภาต้องเห็นชอบผลเจรจา-ยึดประโยชน์ประเทศ ::

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามของนายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ถึงการดำเนินการตาม MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา ทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียม และการปักปันเขตแดน โดยย้ำว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ที่แตกต่างไปจากกรอบ MOU44 ตามที่ได้มีการพูดคุยกันที่ผ่านมาทั้งสิ้น และรัฐบาลยังไม่ได้มีการดำเนินการเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ JTC และย้ำว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น ตกลงเพียงการมาพูดคุยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจและการอ้างสิทธิ์ที่ต่างกัน และการแก้ปัญหา MOU44 จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ JTC ระหว่างไทย-กัมพูชาชุดใหม่ก่อน เพื่อดำเนินการเจรจา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะมาประกอบการกำหนดท่าทีของประเทศไทย และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน ทั้งมิติความมั่นคง และเศรษฐกิจ จึงขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า รัฐบาล มีแนวทางเจรจากับกัมพูชา โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบรัดกุม ตามกลไกที่มีอยู่ และย้ำว่า MOU44 เป็นเพียงกรอบการเจรจา และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลผลประโยชน์ของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

่วนกลไกเจรจาการแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียม และการปักปันเขตแดนนั้น นายมาริษ ย้ำว่า ขณะนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต และกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเปิดเวทีการสัมมนา เพื่อรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเป็นระยะ ๆ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับกรรมาธิการการต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพูดคุย หาทางออก และวางแผนให้การเจรจาประสบความสำเร็จ

นายมาริษ ยืนยันว่า กรอบการตัดสินใจการเจรจาต่าง ๆ ตาม MOU44 จะอยู่บนพื้นฐานความเห็นชอบของรัฐสภา และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน 

:: รมว.กต.ยืนยันเวที 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา-อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการไม่ใช่การรับรองผลเลือกตั้งเมียนมาล่วงหน้า ย้ำเป็นการสร้างความร่วมมือแก้ปัญหาผลกระทบความไม่สงบในเมียนมา ยืนยันรัฐบาลตระหนักปัญหาภายในเมียนมามีความซับซ้อน ต้องประเมินการใช้นโยบาย-บางครั้งต้องดำเนินการแบบ Quiet Diplomacy – “กัณวีร์” หนุนใช้การแทรกแซงแบบสร้างสรรค์ ::

ขณะเดียวกัน นายมาริษ ยังได้ตอบกระทู้ถามของนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ถึงกรณีการเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา และการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูง 6 ประเทศ ทั้งไทย, เมียนมา, สปป.ลาว,  จีน, อินเดีย และบังคลาเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมา เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเมียนมา ประกาศจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ผ่านเวทีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการหารือ จะถือเป็นการรับรองการเลือกตั้งของเมียนมาล่วงหน้าผ่านวงหารือนี้หรือไม่ โดยชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาผลกระทบจากความไม่สงบในเมียนมา แต่ไม่ได้มีประเทศใดรองรับผลการเลือกตั้งล่วงหน้าของเมียนมา ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับจะต้องขึ้นอยู่กับเมียนมาเอง โดยไม่ได้มีการไปรับรองใด ๆ  

ส่วนการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมานั้น นายมาริษ ย้ำว่า แนวทางการดำเนินนโยบายของประเทศไทยต่อเมียนมา ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกันยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร จึงทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากหลายด้าน ดังนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องมีบทบาทช่วยให้สถานการณ์เมียนมาคลี่คลาย และลดผลกระทบ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลตระหนักดีกว่า สถานการณ์ภายในเมียนมามีความซับซ้อน และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ดังนั้น การดำเนินการทางการทูตที่ผ่านมา จะต้องดำเนินการอย่างสมดุล หลากหลายมิติ และหลากหลายช่องทาง ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน และจะต้องประเมินถึงสถานการณ์ในการใช้แต่ละนโยบาย และบางอย่างต้องดำเนินการอย่างเงียบ ๆ หรือ Quiet Diplomacy พร้อมย้ำว่า ประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง และไม่ต้องการเห็นให้มีการสู้รบต่อไปในเมียนมา แต่ในหลาย ๆ ปัจจัยของเมียนมามีความเปราะบาง และซับซ้อน แต่ประเทศไทย ยังย้ำความเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาที่สำคัญกับประเทศไทย ได้กลับมามีความสงบสุข มีเสถียรภาพ และชาวเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดี

นายมาริษ ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งของเมียนมา เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ที่ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมา จะต้องหาทางออกสำหรับอนาคตของเมียนมาเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประเทศภายนอก ไม่สามารถไปบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปตามในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้าน จะสนับสนุนให้ฝ่ายต่าง ๆ หันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุข ปรองดอง พัฒนาเศรษฐกิจ เดินหน้าประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งเมื่อเมียนมาสงบสุข มีการพัฒนา ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วย พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งยาเสพติด ออนไลน์สแกมเมอร์ และการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านการทูตเชิงรุก อาทิ การใช้การหารือทวิภาคีกับเมียนมาในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น ที่ผ่านมามีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาอุกทภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น 

ขณะที่ นายกัณวีร์ ได้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการการทูตแบบ Quiet Diplomacy ได้ และจะต้องเปลี่ยนนโยบายการทูตแบบการแทรกแซงแบบสร้างสรรค์ โดยใช้ความร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ แสดงบทบาทการเป็นผู้นำสร้างสันติภาพให้กับเมียนมา พร้อมถามถึงแนวทางกรณีที่รัฐบาลอาจสนับสนุนข้อมูล และภาษีแรงงานเมียนมาให้กับรัฐบาลเมียนมา และแผนในการช่วยเหลือมนุษยธรรมต่อผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา 

โดย นายมาริษ ยืนยันว่า รูปแบบการทูตไทยกับเมียนมาไม่ใช่รูปแบบเก่า และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเมียนมา ทำให้ประเทศไทยต้องแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมียนมา กับเพื่อนบ้านเมียนมา ในการแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ ทั้งความมั่นคงชายแดน และการพัฒนาการติดต่อเพื่อให้การค้าขายชายแดนกลับมาเป็นปกติ ฉะนั้น มิติการแก้ปัญหาเมียนมาอาจจะเปลี่ยน และเน้นการสร้างความร่วมมือ เพื่อให้สถานการณ์เอื้ออำนวย และนำไปสู่การพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืนภายหลังสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในของตนเองได้ 

ส่วนปัญหาแรงงานภายในประเทศไทยนั้น นายมาริษ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ แต่ก็ยังมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของหลาย ๆ กระทรวง แต่กระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแรงงาน และเจรจาทางการทูต เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแรงงานบรรลุผล เพื่อประโยชน์ของประเทศ 

สำหรับแผนในการช่วยเหลือมนุษยธรรมต่อผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมานั้น นายมาริษ ย้ำว่า ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมา ไทยให้การดูแลกลุ่มผู้หนีภัยมาโดยตลอดบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม ทั้งกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย–เมียนมามาเป็นเวลา 40 ปี  ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ต่าง ๆ ในพื้นที่พักพิง และอำนวยความสะดวกไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ตามความสมัครใจ และยังดูแลกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบ ที่เข้ามาในประเทศไทยหลังรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ตามแนวทางของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ที่ดูแลโดยกองทัพบก และกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังให้การดูแลกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาการทำงานตามกลไกของกระทรวงแรงงาน และประชากรกลุ่มเปราะบางตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการศึกษา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งตนเองเป็นประธาน โดยได้คำนึงถึงความสมดุลในการช่วยเหลือตามกรอบอาเซียน และหลักมนุษยธรรม