svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อนุทิน​" โว "รัฐบาลอิ๊งค์" มีเสถียรภาพมากสุดครบเทอมแน่!

"อนุทิน​" โว "รัฐบาลอิ๊งค์" มีเสถียรภาพมากสุดครบเทอมแน่! - ยืนยัน ​"ภูมิใจไทย" ไม่เคยขวาง​แค่แสดงจุดยืน​ตัวเอง แนะ​ม็อบ​ใช้เวทีสภาฯ-ยื่นหน่วยงานสอบไขข้อกังขา

นายอนุทิน​ ชาญ​วี​ร​กูล​ ​รอง​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)   ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองในปี 2568 จะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้หรือไม่​ ว่า  รัฐบาลชุดนี้มีเสถียรภาพสูง เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีรัฐบาลที่มีเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่งเทียบเท่ากับรัฐบาลนี้   ดังนั้น​ เมื่อเสถียรภาพในเชิงการเมืองจึงมีสูงอย่างแน่นอน ยังไม่เห็นปัจจัยอะไร ที่จะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้​ เพราะนายกรัฐมนตรีสามารถแสดงภาวะความเป็นผู้นำได้ชัดเจน สามารถนำพารัฐบาลได้​ ความร่วมมือระหว่างพักร่วมรัฐบาลก็เป็นไปได้ด้วยดี ปัญหาปลีกย่อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาหาวิธีแก้ไข ไม่มีเรื่องใดที่ขัดแย้งกัน​ จนหาทางกลับไม่ได้​ 

เมื่อถามถึงปัจจัยภายนอก​ ทั้งเรื่องชั้น 14 และม็อบทั้งของ นายสนธิ​ ลิ้มทองกุล​ และ นายจตุพร​ พรหมพันธุ์​ จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้​มีคำชี้แจงของฝ่ายที่ถูกพาดพิงออกมาแล้ว อ้างอิงไปตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ​และระเบียบต่างๆ​ ส่วนใหญ่มีเหตุและผล​ แต่หากยังเป็นที่กังขา​ ไม่น่าไว้วางใจ​ ก็ยังมีสภา​ ที่เป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ​ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องไปชี้แจง​

เมื่อถามว่าจากภาพที่ นายอนุทิน​ ไปตีกอล์ฟกับนายทักษิณ​ ชินวัตร​ อดีตนายกรัฐมนตรี​ ต่อไปนี้พรรค ภท. จะขวางพรรคเพื่อไทย (พท.) อีกหรือไม่​ นายอนุทิน​ ยืนยันว่า​ ภท. ไม่ได้ขวาง​ ภท. แค่แสดงจุดยืนและความเห็นในเรื่องที่ ภท. เชื่อถือ​ ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ภท. เคารพ เสียงส่วนใหญ่​ เราได้แสดงเจตนารมณ์ของเราไปแล้ว แต่เมื่อต้องใช้มติจากสภาแล้วมติออกมาไปอีกทางหนึ่ง ภท. ก็เคารพเสียงข้างมาก ก็ถือว่าจบไป​ เช่น​ ร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ. ประชามติ​ ที่เราแพ้โหวต​เรื่องล็อค​ 2 ชั้น​ เราก็จบ​ 

เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่ารัฐบาลชุดนี้มารวมกันเพราะไฟต์บังคับ ​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ เป็นการบังคับที่ทำให้รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อประชาชน​ ไม่ใช่การบังคับให้มาร่วมกัน​

เมื่อถามว่ารัฐบาลนี้ขาด ภท. ได้หรือไม่​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ขาดไม่ได้​ เมื่อถึงเวลาต้องขาดก็ขาดกันได้ทั้งนั้น​ "nothing is indispensable"

เมื่อถามว่า รัฐบาลชุดนี้จะอยู่จนครบวาระและทำงานต่อในรัฐบาลหน้าด้วยหรือไม่​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ ต้องแยกให้ถูก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เข้ามาบริหารประเทศ ในรัฐบาลผสม 5-6 พรรค​ การนำที่ชัดเจนคือนายกรัฐมนตรี​ ใครบอกว่าตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค​ จะไม่ฟังนายก​รัฐมนตรี​ ก็มาร่วม ครม. ไม่ได้​ ส่วนในสภา​เป็นการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล​ ทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการแสดงออก​ รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เกี่ยวกับสภา​ ถ้านโยบายไหนเป็นของ ครม. ทำร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ต้องให้การสนับสนุน ซึ่งเราก็ทำเช่นนั้นมาโดยตลอด แต่ในเรื่องของสภาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางพรรคบอกควรแก้บางพรรคบอกไม่ควรแก้​ มาตรา​นี้​ เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา​ จะเอามาควบรวมไม่ได้​ 

เมื่อถามว่า​ ตอนนี้พรรค พท. มีประเด็นร้อนหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชั้น 14  จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ หรือ เป็นชนวนเหตุให้มีอำนาจอื่น เช่นรัฐประหารเข้ามาแทรกหรือไม่  นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ ดูจากคนใน คณะรัฐมนตรี และแกนนำทางการเมือง ก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องพวกนี้ ดังนั้น​ การจะร้อนหรือไม่ร้อน​ อยู่ที่การกระพือข่าวของโซเชียลและสื่อมวลชน​ ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิด​ แต่คนที่ทำงานอยู่ตอนนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด​ ทำให้ถูกทำนองคลองธรรม​ ตามระเบียบ ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบ​ มันก็จะอนุมานได้ว่าไม่ควรเกิดสิ่งที่อยู่นอกระบบ​ แต่ถ้าวันๆเอาแต่หาเรื่องทะเลาะกัน​ ขัดขวางทุกเรื่อง​ พูดจาดูหมิ่นดูแคลน​ กระแทกแดกดันกันก็จะเพิ่มโอกาส ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาได้​ 

เมื่อถามว่า​ ม็อบที่ต่อต้าน นายทักษิณ​ จะส่งผลกระทบกับต่อรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน​ ถามกลับว่า​ รัฐบาลทำอะไรผิดหรือยัง​ ตนยังไม่เห็น​ ตอนนี้พยายามผลักดันนโยบาย​ ที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนทุกโครงการ​ ในรัฐบาลยังไม่มีใครเคยมาพูดเรื่องเหล่านี้​ หรือปรึกษาว่าจะทำอย่างไรกันดี​ แม้แต่ครั้งเดียว พูดแต่เรื่องการคลายความเดือดร้อนและการแก้ปัญหาให้ประชาชน​ 

เมื่อถามว่า​ แสดงว่าม็อบต่อต้าน นายทักษิณ ไม่มีผลต่อรัฐบาลเลยใช่หรือไม่​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ ไม่เกี่ยวข้องกับใครทั้งสิ้น​ การจะเรียกร้องอะไรมีช่องทางให้เรียบร้อย​ ซึ่งเรื่องชั้น 14 ก็มีคนไปร้องเรียน​ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว​ และน่าจะมีการอภิปรายในสภาทั้งแบบลงมติและไม่ลงมติ​ คนที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจง ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงมหาดไทย​ เช่น​  เรื่องเขากระโดง​ ก็ต้องไปชี้แจงไม่มีใครโอดครวญ