3 ธันวาคม 2567 จากกรณีกระแสดรามานายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีน้ำท่วมภาคใต้ที่ระบุว่า มีสามีเป็นคนใต้ ยืนยันไม่ละเลยคนใต้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดรามามีการตัดคำพูดออกไปเป็นบางส่วน ซึ่งคำถามตอนแรกได้ถามถึงเรื่องมาตรการการช่วยเหลือ ซึ่งตนก็ได้ตอบไปหมดแล้ว และทางสื่อมวลชนถามต่อว่า นายกฯ ได้ยินเรื่องดรามาหรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไปว่า ”ได้ยิน“ โดยความจริงแล้ว ปัญหาที่ใหญ่คือ ปัญหาของน้ำท่วม อย่าเอาดรามาไปปนเช่นนั้นเลย เพราะไม่จำเป็น ซึ่งเรื่องมาตรการการช่วยเหลือต้องไปถึง คือสิ่งสำคัญ แต่ถ้าถามว่า ตนเองจะลงพื้นที่ไปหรือไม่ ก็ต้องดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากน้ำลด และต้องมีการฟื้นฟูต่อ ตนก็จะหาโอกาสลงพื้นที่ไปอยู่แล้ว และเดือนธันวาคม เป็นเดือนที่มีภารกิจที่ค่อนข้างแน่น เช่นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลาก็ผ่านไปเร็ว เพราะมีไปประชุมต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งก็พยายามทำทุกอย่างให้ได้มากที่สุด และก่อนหน้านี้ก็ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องมาตรการเยียวยา หรือฟื้นฟู ยืนยันว่า จะไม่มีได้น้อยกว่าพื้นที่อื่น จะพิจารณาตามหลักการ 9,000 บาท และสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการ ตั้งแต่อุทกภัยภาคเหนือ หรือภาคอีสาน ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่จ่ายเงินค่าเยียวยาได้รวดเร็วมาก และหากไม่เอาเรื่องดรามา ที่รัฐบาลได้ลงพื้นที่ และประชาชนทราบว่า รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือจริงๆ เพราะฉะนั้นยืนยันว่า เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่พื้นที่ไหนในประเทศไทย ก็ต้องได้รับการดูแลแบบนี้เช่นกัน
ขณะที่การประชุม ครม.วันนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่ภาคใต้ให้เฝ้าระวังว่า ช่วงนี้จะมีฝนตกหนักเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำท่วมก่อนหน้านี้ จึงสั่งให้ทุกหน่วยเตรียมการ
นายกฯ ยังห่วงใต้สั่งทุกภาคส่วนระดมสรรพกำลังรับมือฝนระลอกสอง
"นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีฝนระลอกสองตั้งแต่วันนี้ (3 ธ.ค.)ไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค. ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมกำลังพลเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรวม 5,592 ราย พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ รวม 6,437 หน่วย เช่น เรือชนิดต่าง ๆ 676 ลำ รถบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 72 คัน เป็นต้น
รองโฆษกฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 10 จังหวัด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน 6 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบลดลงจาก 664,173 ครัวเรือน เหลือ 302,982 ครัวเรือน ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
"อย่างไรก็ตามเนื่องจากจะมีฝนเข้ามาเติมในพื้นที่ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ยังมีน้ำท่วมสูง หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงรวม 489 แห่ง รองรับประชาชนได้ 66,800 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้พักพิงในศูนย์ต่าง ๆ รวม 40,768 ราย ส่วนประชาชนที่ไม่ได้อพยพมายังศูนย์พักพิง ได้จัดตั้งโรงครัวและรถประกอบอาหารรวม 23 แห่ง แจกจ่ายอาหารปรุงสุกไปในพื้นที่ที่ยังมีผลกระทบอย่างทั่วถึง" นางสาวศศิกานต์ กล่าว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากความห่วงใยไปยังกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายูในพื้นที่ประสบภัยที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีอยู่ 18,648 ราย โดยในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจำนวน 299 ราย ซึ่งหากเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วม จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลที่ปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ติดตามอาการและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
"สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยา จะใช้แนวทางเดียวกับการดูแลพี่น้องภาคเหนือ โดยเน้นย้ำให้ลดขั้นตอนลดเอกสารและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนความเสียหายอื่น ๆ เช่นพื้นที่การเกษตร การประมง และปศุสัตว์ ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว" นางสาวศศิกานต์ กล่าว