3 ธันวาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการ พักโทษนักโทษคืนอื่น ๆ ในคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นอกเหนือจาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า น่าจะมีนักโทษคนอื่นๆ ที่เป็นข้าราชการ และเข้าเกณฑ์การพักโทษได้รับการพักโทษด้วย ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาตามแนวปฏิบัติของกฎหมายการพักโทษ เช่นได้รับโทษมามากกว่า 6 เดือน, 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ในบางประเภท
ในกรณีของ นายบุญทรง ก็ได้รับอภัยโทษมาแล้ว 4 ครั้ง เหลือรับโทษประมาณ 10 ปี ซึ่ง นายบุญทรง รับโทษมาแล้ว 7 ปี จึงเหลืออายุการรับโทษ 3 ปี
ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังคงจะต้องใส่กำไล EM และต้องพำนักอยู่ในภูมิลำเนาของผู้อุปการะซึ่งเป็นบุตรชาย ที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยจะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะ โดยไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และหากต้องการจะเดินทางออกนอกจังหวัดจะต้องขออนุญาตก่อน
พ.ต.อ.ทวี ยังยืนยันด้วยว่า การพักโทษดังกล่าว ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากยังมีคนอื่นๆ รวมไปถึงข้าราชการ ได้รับการพักโทษด้วย ซึ่งในการพิจารณาการพักโทษนั้นก็จะมีคณะกรรมการพักโทษของกระทรวงยุติธรรมในการพิจารณา
ซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งตำรวจ, อัยการ, ศาล, กรมราชทัณฑ์, กรมคุมประพฤติ, ผู้แทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
โดยที่รัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากมติของคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์ ก็จะต้องมีการทบทวน
ส่วนหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ต้องการกลับประเทศ จะต้องดำเนินการทางช่องทางใดนั้น
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า จะต้องใช้ช่องทางตามกฎหมายอย่างเดียว ด้วยการไปรายงานตัวต่อศาล ซึ่งจะมีการออกหมายขัง ดังนั้นจึงไม่มีขั้นตอนพิเศษใด ๆ ยกเว้น การป่วย พร้อมย้ำว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการประสานขอกลับประเทศแต่อย่างใด และย้ำว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ส่วนการพักโทษในครั้งนี้ จะเป็นการปูทางการพักโทษ ให้กับนักโทษในคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่นั้น
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะการพักโทษในครั้งนี้ยังมีผู้ได้รับการพักโทษอีกกว่า 1,000 คน รวมถึงยังมีผู้ที่ได้รับการพักโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย ซึ่งกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ได้ให้ความสำคัญว่า ผู้ที่ได้รับการพักโทษแล้ว จะต้องไม่มีการกระทำผิดซ้ำ
ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่มองกระบวนการยุติธรรมจำคุกไม่กี่ปี ก็ได้ออกมาแล้วนั้น
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่เฉพาะที่ไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นทั่วโลก อย่างที่ตนไปศึกษาดูงานที่กรมราชทัณฑ์ของประเทศมาเลเซีย ก็มีการพักโทษ เช่น นักโทษในเรือนจำ จำนวน 70,000 คน มีการพักโทษ 30,000 คน
และในปีหน้า ก็จะมีการสลับให้ผู้ที่ได้รับการพักโทษแล้วกลับเข้าไปในเรือนจำ และผู้ที่ยังคงอยู่ในเรือนจำอยู่ก็จะได้รับการพักโทษ
โดยมีหลักคิดว่า มนุษย์สามารถกระทำผิดพลาดได้ และเชื่อว่าผู้ที่เป็นผู้สูงอายุแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำ