svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา "ศาลรธน." รับหรือไม่รับคำร้อง"คดีทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง 

ลุ้นระทึก องค์คณะ "ตุลาการศาลรธน." นัดพิจารณา รับหรือไม่รับคำร้อง "คดีทักษิณและเพื่อไทย"ล้มล้างการปกครองฯ  

สถานการณ์ทางการเมืองมีเรื่องให้ต้องติดตามอย่างระทึกอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567  เมื่อ"ศาลรัฐธรรมนูญ"มีกำหนดนัดประชุมประจำสัปดาห์ เวลา 09.30 น.  หลังจากก่อนหน้านี้ "ตุลาการศาลรธน."ไม่ได้ประชุมกันมาสองครั้ง คือ เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน และวันพุธที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะ"ตุลาการศาลรธน."บางคนติดภารกิจต่างๆ จึงเลื่อนจากที่ต้องประชุมทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ มาเป็นวันศุกร์นี้ 22 พฤศจิกายนนี้ แทน  

แต่ความน่าสนใจกว่านั้น ผลจากการเลื่อนประชุมในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายนนั้น มีรายงานว่า ที่ประชุมจะหยิบยกวาระ ที่"นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร"  ทนายความอิสระ  ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกล่าวหาว่า "นายทักษิณ ชินวัตร" (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ "พรรคเพื่อไทย" (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ สมควรที่จะรับหรือไม่รับไว้พิจารณาหรือไม่  

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีประชุมในวันที่  22 พฤศจิกายน  กูรูการเมือง คาดการณ์ต่างต่างนานา ว่าผลจะออกมาหน้าไหน จะมีมติออกมาเป็นอย่างไร เอกฉันท์ หรือไม่เอกฉันท์ เสียงข้างมาก รับหรือไม่รับคำร้อง 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกระแสข่าวออกตามมาอีก ในบรรดาตุลาการ 9 ท่าน จะออกเสียงลงมติ เพียง 8 ท่านบ้าง  7 ท่านบ้าง   กระแสข่าวดังกล่าวมาจากกรณีที่จะมีตุลาการพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และกำลังจะพ้นตำแหน่งหลังวันที่ 22 พฤศจิกายนนั่นเอง 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ที่มา เว็ปไซต์ ศาลรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ 1. "ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้อยู่ครบวาระการเป็นตุลาการศาลรธน.  เมื่อวันที่  16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง  2. "นายปัญญา อุดซาชน" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพ้นจากตำแหน่งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 

อย่างไรก็ดี  รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ ตุลาการศาลรธน.ที่แม้จะครบวาระการทำหน้าที่แล้ว แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีตุลาการศาลรธน.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งแตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลยหากครบวาระ ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้  

เช่นเดียวกัน ขณะนี้  "นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล" ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรธน. ได้ออกประกาศรับสมัครตุลาการศาลรธน.สองตำแหน่งแล้ว โดยเริ่มรับสมัครกันวันแรกในวัน จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายนถึงจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน เป็นเวลาสองสัปดาห์ ที่อาคารัฐสภา ซึ่งข้อมูลผ่านมาถึง วันที่ 21 พฤศจิกายน มีผู้สมัครแล้ว  4   ราย หนึ่งในสี่ราย มีชื่อ อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ มาสมัครด้วย  

 

+++สำหรับการคัดเลือก ตุลาการศาลรธน. คนใหม่ อีก 2 ท่าน ถือว่ามีความเกี่ยวพันกับ"คดีคุณทักษิณ-เพื่อไทย" เช่นกัน ในกรณีที่ การพิจารณาของศาลรธน.ในวันที่ 22 พฤศจิกายน หากมีมติ "รับคำร้อง" ซึ่ง ตรงนี้ เราจะมาขยายความในโอกาสต่อไป+++ 


คราวนี้ กลับมา ที่ประเด็น กระแสข่าว องค์คณะตุลาการศาลรธน. กับการลงมติก่อน ในเมื่อ รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ ตุลาการศาลรธน.ที่แม้จะครบวาระการทำหน้าที่แล้ว แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีตุลาการศาลรธน.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน ฉะนั้น การประชุมพิจารณาคำร้องคดีคุณทักษิณ   ก็ถือว่ามีองค์คณะตุลาการศาลรธน. 9 คน ร่วมพิจารณา โดยสามารถลงมติได้ เช่นเดิมด้วย 

อีกทั้งนี้ ในอดีต ก็เคยมี ตุลาการที่พ้นตำแหน่งและลงมติมาแล้ว เช่น นายวรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตประธานศาลรธน.ในคดี ยุบพรรคก้าวไกล  

++++++

รธน.ปี 60 หมวด 11 ศาลรธน. มาตรา 209 วรรคท้าย 
           
****ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่แทน *****
.....

ธีรยุทธ  สุวรรณเกษร  ทนายความอิสระ

"สำหรับวาระคำร้องของ "นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ที่มี "นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถูกร้องที่หนึ่ง และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ถูกร้องที่สอง คงต้องรอติดตามว่า จะมีการพิจารณาลงมติกันเลยหรือไม่ว่า  จะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย  แต่ตอนนี้ อัยการสูงสุดได้ส่งหนังสือและข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ครบหมดแล้วก็ทำให้คาดว่าน่าจะมีการหารือกันวันศุกร์นี้"  รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรธน.ระบุ

+++

 คำร้องของนายธีรยุทธดังกล่าว ที่ร้องต่อศาลรธน.มีด้วยกันทั้งสิ้น หกประเด็น ดังนี้ 
 

 

กรณีที่ 1 ปมชายชั้น 14  

ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด

 

กรณีที่ 2 พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

กรณีที่ 3 สมคบคิดร่วมกันแก้ไขรธน.

 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก

จับตา \"ศาลรธน.\" รับหรือไม่รับคำร้อง\"คดีทักษิณ-เพื่อไทย\" ล้มล้างการปกครอง 

กรณีที่ 4 เปิดบ้านเจรจาตั้งนายกฯคนใหม่

ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)

กรณีที่ 5 สั่งเพื่อไทยเขี่ยพลังประชารัฐ

ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ

กรณีที่ 6 สั่งเพื่อไทยนำวิสัยทัศน์ไปเป็นนโยบายรัฐบาล

ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567