svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำฉีก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำการยกเลิก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน แถมตัดกลไกเจรจา - ยืนยันการดำเนินการตาม MOU44 เป็นแนวทางที่ดีที่สุด - ลั่น! รักษาผลประโยชน์ชาติ-ปชช.

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำฉีก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับ ''ผู้สื่อข่าวในเครือเนชั่น'' โดยได้ย้ำถึงพื้นที่การอ้างสิทธิทับซ้อน หรือ Overlapping Claims Area: OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เกิดขึ้นจากการประกาศอ้างสิทธิเขตแดนของแต่ละฝ่าย ซึ่งกัมพูชาได้ประกาศอ้างสิทธิ ตั้งแต่ปี 2515 ทั้งที่ได้เริ่มการเจรจากันตั้งแต่ปี 2513 แล้ว และไทยประกาศในปี 2516 ซึ่งแต่ละฝ่ายอ้างสิทธิกันโดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ อนุสัญญาเวียนนา ค.ศ.1958 แต่ไทยก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา และกัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของไทย ทำให้ปัญหาดังกล่าวค้างคา ซึ่งตามกฎหมายสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในปัจจุบัน ระบุชัดเจนว่า รัฐชายฝั่งจะต้องมาตกลงกันเองในการกำหนดเขตทางทะเล ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่การจับปลา และการใช้ทรัพยากรใต้น้ำด้วย แต่ปัจจุบัน ทั้งไทย และกัมพูชา ก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อน ที่พบก๊าซธรรมชาติได้ ดังนั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิด MOU44 ที่เกิดขึ้นในปี 2544 ที่มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้เจรจา เพื่อทำความตกลง MOU ดังกล่าว

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำฉีก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

นายรัศม์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 ว่า การยกเลิก MOU44 ก็ไม่ได้ทำให้การอ้างสิทธิของกัมพูชายกเลิกไปด้วย และปัญหาก็ยังคงอยู่ รวมถึงจะทำให้ไม่มีกลไกทำให้เกิดการเจรจาด้วย รวมถึง MOU44 เป็นกรอบและกลไกเพื่อทำให้เกิดการเจรจา และการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตาม MOU และ MOU44 ได้บัญญัติให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ทั้งประเด็นเขตทางทะเล และประเด็นการเจรจาการใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ จะต้องเจรจาไปพร้อม ๆ กัน ไม่สามารถแยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แต่เบื้องต้น ยังไม่มีการตกลงใด ๆ

 

นายรัศม์ ยังย้ำว่า การดำเนินการตาม MOU44 นี้ เป็นแนวทางการดำเนินการที่ดีที่สุดแล้ว ซึ่งในช่วงที่มีความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการพิจารณาถึงการยกเลิก MOU44 แต่ท้ายที่สุดผลการศึกษา ก็เห็นว่า MOU44 ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเขตทางทะเล และทรัพยากรในพื้นที่ด้วยกัน และท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีมติให้ใช้ MOU44 เป็นกรอบในการเจรจาต่อ และมีการตั้งคณะกรรมการ JTC ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

ส่วนถ้าจะไม่ดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาได้หรือไม่นั้น นายรัศม์ ระบุว่า สามารถได้ และปล่อยให้เป็นปัญหาของรัฐบาลอื่นต่อไป แต่ผลประโยชน์ที่มีใต้ทะเล ก็จะกลายเป็นศูนย์ ซึ่งในอนาคตหากไม่สามารถทำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ ก็จะเป็นการทำลายโอกาสของประเทศ และก็เป็นการละเลยหน้าที่ของรัฐบาล ดังนั้น จึงยืนยันว่า การเจรจาตามกรอบ MOU44 จะเป็นการเจรจาแก้ไขทั้ง 2 ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งผลการเจรจาจะสำเร็จถึงระดับใดนั้น ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตราบใดที่ยังไม่เริ่มการเจรจา ผลสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้น และปัญหาก็จะค้างคาอยู่เช่นนี้

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำฉีก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

นายรัศม์ ยังยืนยันว่า การเจรจาของไทย โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดว่า จะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และประชาชนสูงสุด ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลการเจรจา จะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เพราะท้ายที่สุด ผลการเจรจา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงจะมีผลทางกฎหมาย ไม่ใช่การตกลงกันเองอย่างลับ ๆ ซึ่งไม่สามารถทำได้

 

ส่วนหากมีการเจรจาแล้ว ระหว่างไทยกับกัมพูชา ฝ่ายใดจะได้เปรียบมากกว่านั้น นายรัศม์ มองว่า การเจรจาจะต้อง WIN-WIN ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ หรือได้เปรียบเกินไป ก็ยากที่จะสำเร็จได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนเจรจา เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่สมประโยชน์กัน และเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

 

ส่วนมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีในพื้นที่ทับซ้อนนั้น นายรัศม์ เข้าใจว่า มีปริมาณมหาศาลพอสมควร และอย่างน้อยสามารถนำทรัพยากรมาใช้เป็นค่าไฟ หรือราคาพลังงาน ช่วยพัฒนาประเทศได้มากอย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถนำไปใช้พัฒนาด้านอื่น ๆ ของประเทศได้ เพราะรายได้ประเทศชาติขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการซื้อพลังงาน ซึ่งก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลว่า จะสามารถนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำฉีก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

ส่วนความแตกต่างในปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา กับไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่อ่าวไทยด้วยกันมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น นายรัศม์ ระบุว่า เขตทับซ้อนไม่ได้มีเพียงกับกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังมีกับประเทศมาเลเซีย รวมถึงเวียดนามด้วย แต่กับประเทศเวียดนามนั้น ไทยได้เจรจาหมดแล้ว และกับมาเลเซีย ยังเหลือบางส่วน แต่สามารถเจรจา เพื่อนำทรัพยากรในเขตทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งความแตกต่างนั้น ในด้านความสัมพันธ์ไทย กับแต่ละประเทศ ก็แตกต่างกัน รวมถึงการเมืองภายในของประเทศนั้น ๆ ที่มั่นคง ต่อเนื่อง หรือบางประเทศก็มีปัญหาภายใน รวมถึงเขตพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างไทยกับกัมพูชา ใหญ่กว่ามาเลเซียหลายเท่า แต่ตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศสามารถเจรจาได้ พร้อมย้ำว่า MOU44 ใช้ความระมัดระวัง เกินกว่าที่กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติไว้ โดยจะแก้ปัญหาทั้งพื้นที่ และผลประโยชน์ทางทะเล

 

ส่วนความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสียเกาะกูดนั้น นายรัศม์ ย้ำว่า เกาะกูด เป็นของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ แต่สิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศเจรจา คือ เรื่องทางทะเล ไม่เกี่ยวกับดินแดนบนเกาะกูด ดังนั้น ประเด็นเรื่องเกาะกูดจึงถือว่า จบสิ้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้

 

สรุป

  • การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย ระหว่างไทย-กัมพูชา เจรจามาตั้งแต่ปี 2513 แต่กัมพูชา ได้ประกาศอ้างสิทธิในปี 2515 และไทยได้ประกาศอ้างสิทธิในปี 2516 จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน ดังนั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องทำให้เกิดการเจรจากัน รัฐบาลในปี 2544 จึงทำ MOU ร่วมกับกัมพูชา เพื่อเจรจาเรื่องดังกล่าว
  • การยกเลิก MOU44 ไม่ได้ทำให้การอ้างสิทธิของกัมพูชาหายไปด้วย และปัญหาก็ยังคงอยู่ แถมยังจะทำให้ไม่มีกลไกทำให้เกิดการเจรจาด้วย ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เคยเสนอให้มีการศึกษาการยกเลิก MOU44 แต่สุดท้ายผลการศึกษา ก็ยืนยันว่า การดำเนินการตาม MOU44 นี้ เป็นแนวทางการดำเนินการที่ดีที่สุด
  • คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ มีมติให้ใช้ MOU44 เป็นกรอบในการเจรจาต่อ และมีการตั้งคณะกรรมการ JTC ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
  • กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันการเจรจาต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และประชาชนสูงสุด และผลการเจรจาจะต้องเปิดเผย โปร่งใส และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่สามารถไปตกลงกันเองอย่างลับ ๆ ได้

  • มูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีในพื้นที่ทับซ้อนนั้น มีปริมาณมหาศาลพอสมควร สามารถนำทรัพยากรมาใช้เป็นค่าไฟ หรือราคาพลังงาน ช่วยพัฒนาประเทศได้มากอย่างมีนัยยะสำคัญ หากไม่สามารถทำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ ก็จะเป็นการทำลายโอกาสของประเทศ

  • เกาะกูด เป็นของไทยโดยสมบูรณ์ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นอื่นได้

 

คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์

ผู้สื่อข่าว Nation TV รายงาน