17 พฤศจิกายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสวิจารณ์ "กรมที่ดิน" ไม่ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง เรื่องที่ดินเขากระโดง ว่า "อย่ามั่วครับ" พร้อมชี้แจงว่า คำพิพากษาศาลฎีกา เป็นคดีของโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน 35 ราย ที่ต้องการให้ออกโฉนด โดยมีการรถไฟอยู่ในฐานะจำเลย ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่มีกว่า 900 แปลง
ส่วนคำสั่งศาลปกครอง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สั่งให้ "กรมที่ดิน" ตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาพิจารณาเรื่องที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ดิน และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามกรอบเวลาในคำสั่งศาลแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการรถไฟ ว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป ย้ำว่าทุกอย่างมีกฎหมายกำกับอยู่
"อย่าไปสรุปชุ่ยๆ กับเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงถูกต้องและเห็นตรงกัน มันจบไปนานแล้ว อย่าลืมว่ามีที่อยู่เกือบพันแปลง หากยังมีการอ้างอิงแผนที่ที่ไม่ตรงกันอยู่ และไม่พอใจผลการสอบสวน ก็ยังมีช่องทางตามกฎหมายให้พิสูจน์กันในศาลต่อไป กรมที่ดินเขาก็มีกฎหมายของกรม ที่ต้องปฏิบัติตาม ข้าราชการไม่มีส่วนได้เสีย เขาต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผมกำชับไปคำเดียวว่าให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนั้นต้องขอความเป็นธรรมให้คนทำงานด้วย"
ส่วนกระแสที่เกิดขึ้น เพราะเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่ "นายอนุทิน" บอกว่า "ท่านก็คงตอบได้เองอยู่แล้ว นักข่าวที่มาถามผมก็นักข่าวการเมืองไม่ใช่หรือ เรื่องนี้ถ้าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนการเมือง ก็คงจะมีองค์กรต่างๆ ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านเหมือนปัญหาที่ดินในที่อื่นๆไปแล้ว อย่าลืมว่าหลายครอบครัวเขาอยู่กันมาเป็นร้อยปี เขาก็ย่อมพยายามใช้ช่องทางตามกฎหมายพิสูจน์กันเต็มที่ เราอย่าไปเอาเรื่องแบบนี้มาเล่นการเมือง ผิดถูกว่ากันไปตามกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม พร้อมฝากให้ไปอ่านคำชี้แจง 5 ประเด็นของกรมที่ดินให้ละเอียด จะได้ไม่ด่วนสรุปอะไรมั่วๆ กันอีก"
ทั้งนี้ เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2567 กรมที่ดิน ได้มีการออกคำแถลงชี้แจงประเด็นที่ดินเขากระโดง โดยมีรายละเอียดยืนยันดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และไม่ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมแจ้งการรถไฟให้เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ซึ่งในคำชี้แจงดังกล่าวประกอบด้วย 5 ประเด็นคือ
1. ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางฯ
2. ประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
3. ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน
4. ประเด็นที่กรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง
และ 5. ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่