13 พฤศจิกายน 2567 "นายรังสิมันต์ โรม" สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การที่กรรมาธิการมั่นคงฯ ตรวจสอบ "นายทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการหาเศษหาเลย ว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องหาเศษหาเลย ไม่ใช่เรื่องเล็กที่เราจะมองข้ามได้
"ผมคิดว่าตัวชี้วัดสำคัญไม่ใช่กรรมาธิการอย่างเดียว แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือภาพรวมของสังคมที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้มาโดยตลอด ถ้าเรามองด้วยใจเป็นธรรมเรื่องของนายทักษิณผ่านมาพอสมควร แต่ทำไมสังคมยังติดใจ ยังสงสัย ยังมีคำถาม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ ดังนั้น การที่กรรมาธิการได้แสวงหาข้อเท็จจริงนี้ ทั้งในแง่มุมกฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจเรา ในแง่ของการเมือง กรรมาธิการก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องถามและตรวจสอบรัฐบาล ถ้าฝั่งรัฐบาลทำให้ถูกต้อง รัฐบาลไม่มีอะไรที่ปกปิด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลในเรื่องนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลทำได้ง่ายๆ คือการให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการเป็นเรื่องที่สามารถทำได้"
"สุดท้ายผลพิสูจน์ออกมา คุณทักษิณป่วยจริง มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจจริง มีความจำเป็น ที่จะต้องรักษาตัวชั้น 14 นานขนาดนี้ แล้วต้องอยู่ที่ชั้น 14 เท่านั้น มีความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าสุดท้าย ก็จะเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ ถ้าสามารถตรวจสอบได้ มันก็จะเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ คนที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อได้รับคำตอบมันก็จบ แต่ปัญหาก็คือว่าทำไมต้องทำให้เรื่องนี้ดูมีพิรุธ ทำไมต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ ทำไมถึงต้องพยามอ้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย PDPA ต่างๆ ซึ่งเป็นการอ้างที่ผิด เพราะกฎหมาย PDPA เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าไม่รวมถึงการทำหน้าที่ของสภาและกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร" นายรังสิมันต์ กล่าว
"นายรังสิมันต์" กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการหาเศษหาเลย ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่เป็นเรื่องที่กรรมาธิการเรามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา เราในฐานะตัวแทนประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าตกลงแล้วภายใต้รัฐบาลนี้ กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างไร เลือกปฏิบัติให้สิทธิพิเศษกับใคร
ส่วนนัดต่อไปจะมีเนื้อหาสาระอะไร และทำไมถึงเชิญนายทักษิณ"นายรังสิมันต์" กล่าวว่า ถ้าสัปดาห์ที่แล้วเราได้ข้อมูลที่เพียงพอมันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อหรือเชิญนายทักษิณ แต่ต้องยอมรับว่าเราได้รับความร่วมมือน้อยมาก รวมไปถึงข้อมูลที่มีการพูดกันในกรรมาธิการต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าข้อมูลที่ให้เราก็ให้น้อย
"กระทั่งก็ถามชื่อหมอ ชื่อคุณพยาบาลต่างๆ เรายังไม่ได้รับคำตอบเลย ข้อมูลหลายส่วนเป็นข้อมูลที่เป็นการพูดภาพรวม เป็นการพูดกว้างๆ เป็นการพูดหลักการทั่วไป แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ทำให้ข้อมูลให้กรรมาธิการเข้าใจ ผมก็เลยคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อในครั้งนี้ ซึ่งการพิจารณาต่อในครั้งนี้ เราก็พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานชี้แจง ทำไมถึงต้องเชิญคุณทักษิณ ในเมื่อถามหมอ ถามคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับคำตอบ ก็คงต้องถามคนป่วย คนที่เขาบอกว่าเขาป่วยดู ซึ่งถ้าเราได้คำตอบที่ชัดเจน ผมคิดว่ามันก็จบ แค่นั้นเอง" นายรังสิมันต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิการยนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี "นายรังสิมันต์ โรม" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ. ได้มีหนังสือนัดประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาเรื่องการตรวจสอบกรณีที่กรมราชทัณฑ์ให้"นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 22 พ.ย. เวลา 09.30 น. พร้อมกำหนดการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อกมธ. ได้แก่ นายทักษิณ ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ,พล.ต.ท.โสภณรัชจ์ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นพ.ใหญ่ รพ.ตำรวจ ,นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ , น.ส.รวมทิพย์ สุภานันท์ นพ.ชำนาญพิเศษ รพ.ราชทัณฑ์ ,นายวิชัย วงศ์ชนะภัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สำหรับ กรณีดังกล่าวถือเป็นการตรวจสอบเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่การตรวจสอบในครั้งแรก พบข้อมูลที่กมธ. ติดใจ คือ มาตรฐานการรักษาในเรือนจำ รวมถึงการส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วย และวินิจฉัยโดยพยาบาลว่าป่วยหนักถึงขั้นที่ต้องส่งตัวไปรักษาต่อ อีกทั้งยังไม่พบรายละเอียดของการรักษา และการบันทึกภาพใน รพ.ตำรวจ ที่เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลนักโทษนอกเรือนจำ