svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้

ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานอาคารรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ที่มีมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีและระบบเอไอเข้ามาช่วย ที่สำคัญสภาเกาหลีใต้ไม่มีพูดน้ำท่วมทุ่ง

8 พฤศจิกายน 2567 ที่สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เดินทางเข้าไปเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นหนึ่งในไฮไลต์ ของโครงการศึกษาดูงานของ “ประธานฯ วันนอร์” ในครั้งนี้ 

โดยอาคารรัฐสภาตั้งอยู่ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ แม้จะไม่กว้างใหญ่ไพศาล หรือมีพื้นที่ใช้สอยมากมายจนเดินหลงทางเหมือน “สัปปายะสภาสถาน” ของประเทศไทย แต่รัฐสภาของเกาหลีมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีและระบบเอไอเข้ามาช่วย ทำให้การทำงานของ สส.สะดวกสบาย และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับงานนิติบัญญัติ และตรวจสอบการทำงานของผู้แทน จากเขตเลือกตั้งของตนเองได้อย่างทั่วถึงใกล้ชิด
ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้
 

สำหรับรัฐสภาของเกาหลี เป็นระบบ “สภาเดี่ยว” มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.เท่านั้น ไม่มีวุฒิสภา หรือสภาสูง จึงไม่มี สว. ขณะที่ สส.ของเกาหลี มี 300 คน เป็น สส.แบบแบ่งเขต 254 คน แบบบัญชีรายชื่อ 46 คน เป็น สส.ชาย 240 คน สส.หญิง 60 คน คิดเป็นสัดส่วน สส.หญิงถึงร้อยละ 20 ของทั้งสภา 

ด้วยเหตุที่ สส.เกาหลี มีจำนวนน้อยกว่า สส.ไทย และไม่มี สว. ทำให้ห้องประชุมสภาของเกาหลี จึงมีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่ารัฐสภาไทยมาก 

ช่วงหนึ่งของการเยี่ยมชมอาคารรัฐสภา คณะของประธานฯ วันนอร์ ได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ภายในห้องประชุมสภาด้วย ปรากฏว่าทุกที่นั่ง ไม่ได้มีเฉพาะเครื่องเสียบบัตรแสดงตน และลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนสภาไทยเท่านั้น แต่ยังมีจอมอนิเตอร์ คล้ายๆ จอแท็บเล็ตแบบถาวร ประจำอยู่ทุกที่นั่ง และแต่ละที่นั่งก็มีชื่อ สส.กำกับ โดยเป็นป้ายชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน 

สำหรับจอมอนิเตอร์ที่มีประจำทุกที่นั่งของ สส.นั้น สมาชิกแต่ละคนสามารถเปิดใช้งาน เพื่ออ่านร่างกฎหมาย ตรวจสอบญัตติ วาระการประชุม หรือเรื่องที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมไดัอย่างสะดวก รวดเร็ว เพียงใช้นิ้วสัมผัส โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารที่เป็นกระดาษเลย 
ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้
 

เจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่บรรยายรายละเอียดให้กับคณะของประธานฯ วันนอร์ได้ฟัง บอกว่า การปรับปรุงและปฏิรูปเพื่อใช้ระบบเทคโนโลยีในห้องประชุมสภาของเกาหลีนั้น นับเป็นประเทศแรกของโลกที่ทำสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ 

ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ทุกที่นั่งของ สส. ไม่มีไมโครโฟน ฉะน้้น สส.แต่ละคนจะไม่สามารถอภิปราย บริเวณที่นั่งของตัวเองได้ แม้จะยกมือประท้วงหรือคัดค้าน ก็ไม่สามารถพูดผ่านไมโครโฟนได้ทันที แต่จะต้องเดินไปพูดที่โพเดียม ซึ่งทางสภาจัดไว้ให้เป็นการเฉพาะเท่านั้น โดยทั้งห้องประชุมสภามีอยู่เพียงจุดเดียว 

โดย สส.จะต้องแสดงความจำนงก่อนว่า ต้องการอภิปรายกฎหมายนี้ ประเด็นนี้ หรือแสดงความเห็นในเรื่องใดก็ตาม จากนั้้นก็กดปุ่มแสดงความจำนง แล้วเข้าคิวเพื่อรออภิปราย เมื่อใกล้ถึงคิวก็จะต้องย้ายไปนั่งรออีกจุดหนึ่งทางด้านหน้า ใกล้กับโพเดียมและบัลลังก์ประธาน ซี่งเป็นสถานที่เฉพาะที่จัดเตรียมเอาไว้ให้ โดยป้ายชื่อตรงที่นั่งรอจะแตกต่างจากจุดอื่น คือจะเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อ สส.ที่ถึงคิว

ที่น่าสนใจและแปลกแตกต่างกับสภาไทยอีกจุดหนึ่งก็คือ ไม่มีที่นั่งบนบัลลังก์สำหรับคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมสภา แต่จะเป็นโซนที่นั่งซึ่งจัดแยกเอาไว้ และนั่งระดับเดียวกับ สส. รวมทั้งมีโพเดียมพร้อมไมโครโฟนสำหรับพูดเป็นการเฉพาะ แยกจากของ สส. และมีเพียงจุดเดียวเช่นกัน 

ฉะนั้นบัลลังก์ในห้องประชุมสภาของเกาหลี จึงมีเฉพาะที่นั่งประธาน กับรองประธาน มีธงชาติเกาหลี และด้านหลังมีตราสัญลักษณ์ของรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ส่วนด้านบนฝั่งตรงข้ามบัลลังก์ประธาน จะเป็นชั้นที่ยกสูง มีที่นั่งสำหรับประชาชน และผู้สนใจเข้ารับฟัง หรือสังเกตการณ์การประชุมรัฐสภา ซึ่งเตรียมไว้เยอะมาก

สำหรับการลงคะแนนลับ จะมีห้องลงคะแนนต่างหาก โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ไม่ใช้กระดาษเหมือนการลงคะแนนลับบ้านเรา โดยห้องลงคะแนนลับจะอยู่มุมทั้งสองด้านของห้องประชุมสภา มุมละ 4-5 ห้อง สาเหตุที่ต้องมีห้องแยก เพราะที่นั่ง สส.แต่ละคน เมื่อใช้แท็บเล็ตและลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากนั่งอยู่ติดกัน อาจจะมองเห็นกันได้ว่า ลงคะแนนแบบใด ก็จะไม่เป็นการลงคะแนน
ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้

อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งร่วมคณะศึกษาดูงานครั้งนี้ด้วย ได้สรุปข้อสังเกตความพิเศษของห้องประชุมสภาของเกาหลี นอกเหนือจากที่ “ทีมข่าว” เล่าให้ฟังแล้ว ดังนี้ 

1.การอภิปรายของ สส.แต่ละครั้ง จะมีกำหนดเวลาชัดเจนมากว่าจะพูดได้นานเท่าไหร่ แล้วแต่ตกลงกันไว้เบื้องต้น ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปก็ประมาณ 5 นาที หรือ 7 นาที แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญอาจพูดได้ยาวกว่านั้น ด้วยวิธีนี้จึงไม่มีการกดปุ่มไมโครโฟนแบบต่างคนต่างกด แล้วแย่งกันพูด ที่เด็ดที่สุดคือ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว  ไมโครโฟนก็จะดับลง พูดต่อไม่ได้ ต้องกลับไปนั่งที่ของตนตามเดิม 

2. ลักษณะการจัดห้องประชุมของสภาเกาหลี ที่นั่งของคณะรัฐมนตรีอยู่ในระดับพื้นเสมอกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่น เก้าอี้ของนายกรัฐมนตรีก็ดี หรือรัฐมนตรีแต่ละคนก็ดี ไม่มีไมโครโฟนเช่นกัน ใครอยากจะพูดก็ต้องเดินไปพูดที่โพเดียมซึ่งจัดไว้เฉพาะฝ่ายบริหาร ไม่มีทางจะได้ต่อล้อต่อเถียงสวนหมัดกันคำต่อคำกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย

อาจารย์ธงทอง ยังกล่าวแซวทิ้งท้ายว่า “ผมไม่กล้าคิดต่อไปเลยว่าจะนำระบบนี้มาใช้ในสภาบ้านเราได้หรือไม่ เพราะแค่คิดว่าจะคิดก็ตกใจมากแล้ว” 
ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้

อุปกรณ์เสริมหล่อ-สวย แน่นห้องน้ำสภา

ความแปลกแตกต่างอีกประการหนึ่งของอาคารรัฐสภาเกาหลี ก็คือในห้องน้ำทั้งหญิงและชาย นอกจากจะมีสบู่ล้างมือ และกระดาษเช็ดมือเหมือนห้องน้ำทั่วไปแล้ว ยังมีโลชั่น ครีมจัดทรงผม และหวี สำหรับทำหล่อ ทำสวย เพื่อเช็คเรตติ้งในห้องประชุมสภาด้วย 

ทั้งนี้ เนื่องจากการประชุมสภาเกาหลีทุกนัด มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของรัฐสภา และมีประชาชนเฝ้าติดตามดูการทำงานของ สส.เขตบ้านของตนเยอะมาก การพูดหรืออภิปราย หรือการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ในสภาจึงต้องระมัดระวังอย่างมาก ฉะนั้นเบื้องต้น สส.ทุกคนจึงต้องดูดีเอาไว้ก่อน อาจจะถือคติว่า “สวย-หล่อก็มีชัยไปกว่าครึ่ง” 

ลุยดูงานห้องสมุด สถาบันวิจัย - ทำเอ็มโอยูร่วม KIPA 

สำหรับการศึกษาดูงานของคณะประธานรัฐสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า นอกจากการเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาแล้ว ยังได้ไปเยือนห้องสมุดรัฐสภาของเกาหลี ซึ่งมีความทันสมัย และมีหนังสือมากมายไม่แพ้หอสมุดแห่งชาติ ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือมีตำราไทย กฎหมายไทย และรัฐธรรมนูญไทยด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายสำคัญๆ ที่ประกาศใช้ในไทย ยังมีการแปลเป็นภาษาเกาหลี เพื่อให้คนเกาหลีที่สนใจ หรือต้องการไปทำธุรกิจ ลงทุนในไทย ได้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจก่อนด้วย 

นอกจากนั้น คณะของประธานฯวันนอร์ ยังได้ไปดูงานสถาบันวิจัยกฎหมายแห่งเกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้เกาหลีเจริญรุดหน้า สามารถออกกฎหมายที่ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชน และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่การศึกษาดูงานในวันที่สาม คือ วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน มีการไปทำพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันบริหารรัฐกิจแห่งเกาหลี หรือ KIPA (กี-ป้า) เพื่อทำวิจัยและทำงานวิชาการร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารกิจการภาครัฐด้วย 

รายละเอียดทั้งหมด “ทีมข่าว” จะนำมารายงานคุณผู้ชมในวันต่อๆ ไป
ประธานรัฐสภา และประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงานรัฐสภาเกาหลีใต้