6 พฤศจิกายน 2567 "นายชวลิต วิชยสุทธิ์" รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยข้อมูลว่า คนไทยตายด้วยโรคมะเร็ง เฉลี่ย 67,000 คน/ปี หรือเฉลี่ย 8 คน/ชั่วโมง และพบผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ย 120,000 คน/ปีมาเตือนสติให้คนไทยทุกภาคส่วนเห็นภัยอันตรายใกล้ตัว
เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาสร้าง "ระบบการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย" ดังเป็นที่ทราบกันในทางวิชาการว่า อาหารโดยเฉพาะผัก ผลไม้ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน หากปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วสะสมในร่างกายทุกวันก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง สำหรับกรณีที่เลขาธิการ อย.ให้สัมภาษณ์ว่า จะดำเนินการสุ่มตรวจสอบองุ่นไชน์มัสแคทซ้ำยังตลาดและห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งไปตรวจแล้วพบสารเคมีปนเปื้อนถึง 50 รายการ นั้น
"ในฐานะที่ผมเคยทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าการสุ่มตรวจตามตลาดเป็นมาตรการ "ปลายทาง" ควรดำเนินการสุ่มตรวจแต่ "ต้นทาง" ที่ด่านศุลกากรรอบประเทศ นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตที่สำคัญที่ให้รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการสร้าง "ระบบเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย"
"นายชวลิต" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากประเทศ สาธารณร้ฐประชาชนจีน ปีละกว่า 59,000 ล้านบาท แต่ระบบการสุ่มตรวจสารเคมีปนเปื้อนยังไม่ได้มาตรฐานอย่างมาก ไม่มีห้องปฏิบัติการแม้แต่ห้องเดียวตามด่านชายแดน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนด้วยการจัดระบบงบประมาณเพื่อใช้ในการก่อสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้า และผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศ
"นายชวลิต" ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีการสุ่มตรวจตามตลาด และห้างโมเดิร์นเทรด เป็นการสุ่มตรวจที่ "ปลายทาง" จึงน่าเห็นใจพ่อค้า แม่ค้า ที่รับสินค้ามาจำหน่าย สินค้าเหล่านั้นควรผ่านการสุ่มตรวจ ณ ด่านรอบๆ ประเทศที่น่าเห็นใจกว่านั้น คือ ประชาชนผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เลยว่าสินค้า ที่ซื้อมาบริโภคนั้น ผลิตจากทีใด มีการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่ ต่างจากผลไม้จากไทย เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ประเทศผู้นำเข้าจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพ อนามัยของประชาชนผู้บริโภคของเขา
สำหรับการสุ่มตรวจผัก ผลไม้ ที่ด่าน จากเดิม อย.จะต้องนำส่งผัก ผลไม้ไปตรวจที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเวลาในการตรวจสอบสวนทางกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่รถบรรทุกผัก ผลไม้จากจีนเข้าแถวยาวเหยียดส่งผัก ผลไม้ มายังตลาดสี่มุมเมือง ตลาดตามภาคต่าง ๆ มากมายทุกวัน หากเรามีห้องแล็บประจำทุกด่านรอบประเทศ เมื่อพบสินค้าที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน หากส่งกลับ หรือสั่งทำลายสักครั้งสองครั้ง ต่อไปสินค้านำเข้าก็จะได้มาตรฐานโดยปริยาย
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาสร้าง"ระบบเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย" แม้จะใช้งบประมาณจำนวนมากในระยะเริ่มแรก แต่จะคุ้มค่าในการป้องกัน และรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยในระยะยาว ซึ่งคุ้มยิ่งกว่าคุ้มที่แต่เดิม งบประมาณและค่าใช้จ่ายหมดไปกับการรักษา ทั้งที่การป้องกันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะสำคัญกว่าการรักษาซึ่งเป็นปลายทางด้วย