23 ธันวาคม 2567 จากกรณีเรื่องราวสุดสลดใจ "อส.หาดใหญ่" โมโหพนักงานเสิร์ฟเก็บโต๊ะอาหาร ทั้งที่ยังกินไม่เสร็จ ก่อนโวยวายใช้อาวุธปืนกราดยิงคนในร้านข้าวต้มแห่งหนึ่ง ริมถนนนวลแก้วอุทิศ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ส่งผลให้สามีภรรยาเสียชีวิต ต่อหน้าลูกที่กำลังมาฉลองวันเกิด เหตุสลดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2567 เวลาประมาณ 22.00 น. เบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย
อส. ย่อมาจาก กองอาสารักษาดินแดน หรือ Volunteer Defense Corps (VDC) เป็นองค์การของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ เป็นองค์การกึ่งราชการ มีฐานะเทียบเท่ากองทัพต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม เป็นกองกำลังกึ่งทหาร เป็นกองกำลังประจำถิ่น มีลักษณะคล้ายกับกองกำลังป้องกันชาติ หรือ National Guard ของสหรัฐ
กองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่ง กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายหรือฝากภารกิจให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกิจการกองอาสารักษาดินแดน โดยมีสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (สน.อส.) เป็นส่วนราชการสังกัดกรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กองทัพบก ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการฝ่ายทหาร
กองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะโครงสร้างหน่วยงาน ลำดับการบังคับบัญชาเหมือนกับกองทัพ และมีชั้นยศเหมือนทหาร กล่าวคือ เป็นพลเรือนที่มียศเหมือนทหาร ซึ่งมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 คือ รักษาความสงบร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ และการคมนาคม
รวมทั้งเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อมีการร้องขอ ทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม และตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 7 มาตรา 29 ได้บัญญัติไว้ว่า "เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา" จึงไม่ใช่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานเหมือนอาสาสมัครทั่วไป และไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง แต่เป็นเจ้าพนักงานองค์การของรัฐ ตามกฎหมายจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนนั่นเอง
ในอดีตเมื่อมีศึกสงครามเข้ามาประชิดขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ พระมหากษัตริย์เจ้า ขุนทหาร และราษฎรผู้รักษาชาติบ้านเมือง ก็จะลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาพื้นแผ่นดินให้ลูกหลาน อย่างเช่นเหตุการณ์ของรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหตุการณ์ของเมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก หรือท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร และเหตุการณ์เมืองนครราชสีมา คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารี เป็นต้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ขึ้น ทำให้สยามประเทศต้องเสียแผ่นดินฝังซ้ายแม่น้ำโขง หรือประเทศลาวแก่ฝรั่งเศส เนื่องจากสยามมีกำลังทหารและอาวุธไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ เพราะได้มีการเลิกทาสไปแล้ว จึงไม่สามารถเกณฑ์กำลังไพร่พลได้
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดาทรงเสียพระทัยมาก และทรงมองเห็นว่า สยามเราไม่มีกำลังพลเพียงพอ และไม่มีกำลังสำรองไว้เพื่อป้องกันประเทศ
จากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และเสด็จกลับประเทศ จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อจะใช้ป้องกันประเทศในยามบ้านเมืองมีศึกสงคราม โดยมีแนวคิดมาจากกองทหารอาสาของอังกฤษ
อย่างไรก็ตามในขณะนั้นอาจจะยังไม่เหมาะแก่การตั้งกองกำลัง จึงทรงให้แปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เพื่อมิให้ผู้ใดได้เข้าใจความหมาย และในเวลาต่อมาพระองค์ได้เสด็จเสวยราชย์สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้น และมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศ นายกองใหญ่ และทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกหมายเลข 1
มีการพระราชทานธงชัยประจำกองเสือป่า คือ ธงศารทูลธวัช ซึ่งการจัดตั้งกองเสือป่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อมีพระราชอำนาจสมบูรณ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงริเริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที โดยปรากฏหลักฐานในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ความว่า
"การตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วยความมุ่งหมายจะให้คนไทยทั่วกันรู้สึกว่าความจงรักภักดีต่อผู้ดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามมติธรรมประเพณีประการ 1 ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือศาสนาประการ 1 ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน"
ก่อนที่จะทรงจัดตั้งกองเสือป่าอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองฝึกหัดทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างที่มีพระราชประสงค์ ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากลูกเสือ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยการรบแบบที่พระองค์สนพระทัยอย่างยิ่ง คือ สงครามกองโจรและการซ้อมรบในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการรบแบบใหม่ในสมัยนั้น
นอกจากชื่อกองเสือป่าแล้ว ยังมีการตั้งชื่ออื่นๆ ตามกิจกรรมและความเหมาะสมขึ้น เช่น "กองเสือป่ารักษาพระองค์" หรือ "กองเสือป่าหลวง", "กองเสือป่ารักษาแผ่นดิน" หรือ "กองเสือป่ารักษาดินแดน" ซึ่งอย่างหลังเป็นเสือป่าสำหรับข้าราชการ สามัญชน และพลเรือนทั่วพระนครและตามมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 ภาคดูแลตามกลุ่มจังหวัด ถือเป็นต้นแบบของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลาต่อมา
หลังจากทรงจัดตั้งกองเสือป่าแล้ว ยังมีพระราชดำริว่า ควรมีสถานที่ใช้รวมตัวเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีสโมสรเสือป่าในแต่ละกองสำหรับเป็นที่ชุมนุม ประชุม สังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาหลากหลายชนิด อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและปรึกษากิจการเสือป่าด้วย
สโมสรเสือป่าจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 บริเวณสนามเสือป่า ปัจจุบันคือ สำนักพระราชวังสนามเสือป่า ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482 เพื่อโอนทรัพย์สินของกองเสือป่าไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือเท่านั้นที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แม้กิจการเสือป่าได้ล้มเลิกไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดการฝึกราษฏรให้เป็นกำลังสำรองเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศ จึงถือว่า กองเสือป่านั้น เป็นรากเหง้าหรือพื้นฐานของกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน
ระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งกองอาสารักษาดินแดนนั้น สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการจัดโครงสร้าง การบังคับบัญชาเหมือนกองทัพ และชั้นยศเหมือนทหาร โดยมีต้นแบบมาจากกองเสือป่า
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างธงชัยประจำหน่วย เพื่อเป็นที่หมาย เป็นมิ่งขวัญ และเป็นที่เคารพขึ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุด ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีพระราชทานธงชัยประจำหน่วย หรือที่เรียกว่า ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2497 จำนวน 1 ธง
ในปี 2498 ได้มีการพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนครั้งแรก ดังนั้น กองอาสารักษาดินแดนจึงได้ถือเอาวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน คือ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยงาน
กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 2 มาตรา 16 ดังนี้
บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของข้าศึก
ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รักษาสถานที่สำคัญ และการคมนาคม
ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว
ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก เป็นกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองพร้อมที่จะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น
นอกจากนั้นแล้ว ในปัจจุบัน กองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. ยังมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ในด้านต่าง ๆ อีกมาก ทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์ การป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การจัดระเบียบสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการควบคุมความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การพัฒนาและสร้างมวลชน การบริการประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว บรรเทาภัยด้านความมั่นคง เป็นต้น