svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"รัฐบาล"เตรียมเคาะ กก.เจรจาไทย-กัมพูชา ชี้"MOU44" ไม่เกี่ยว "เกาะกูด"

"อนุทิน" เผย กระทรวงต่างประเทศ แจงข้อมูล "MOU 44" ให้นายกฯ-พรรคร่วม ฟัง รอรัฐบาลเคาะ คกก.เจรจา ชี้ MOU พูดถึงการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล ไม่เกี่ยว"เกาะกูด"

4 พฤศจิกายน 2567  "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่า การพูดคุยวันนี้ ไม่มีเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม คุยแต่เรื่อง "MOU 44" 

เมื่อถามว่า เรื่อง "MOU 44" คุยกันซีเรียสหรือไม่ "นายอนุทิน"กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศมาชี้แจงให้พรรคร่วมรัฐบาลฟัง ในทางเทคนิค และเล่าให้ฟังว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ เหมือนที่นายกฯ ชี้แจงไปแล้ว โดยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งคณะกรรมการนั้นก็สิ้นสุดลงไปด้วย ซึ่งนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาทำงานได้ประมาณ 2 เดือน ก็อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการนี้ พร้อมย้ำว่า "MOU 44" ยังมีผลอยู่ 

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานในพื้นที่จังหวัดตราดหรือไม่ หลังรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้บอกให้ผู้ว่าฯ ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เนื่องจากมีกระแสเรื่องนี้ขึ้นมา "นายอนุทิน" กล่าวว่า เกาะกูดเป็นอำเภอ ถูกยกระดับมาจากกิ่งอำเภอ ไม่เคยมีช่วงไหนที่มีความสงสัย หรือเกิดความไม่มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของแผ่นดินอื่น แต่เป็นของแผ่นดินไทย เป็นประเด็นที่ยกขึ้นมาโดยอะไรตนไม่ทราบ และในเรื่องของ "MOU 44" นี้ ก็ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวกับเกาะกูด แต่เป็นการลงนามข้อตกลงหาวิถีทางพัฒนาพลังงานในอ่าวไทย ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีกรอบในเรื่องของการแบ่งเขตแดน 

"พูดง่ายๆ MOU 44 พูดถึงการพัฒนาพื้นที่ในน้ำในทะเล ไม่ได้พูดถึงพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ต้อง remove เรื่องนี้ออกไปเลย เอาเรื่องเขตแดนออกไปเลย"

 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย  

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงทรัพยากรที่อยู่ใต้ทะเล "นายอนุทิน" กล่าวว่า ก็เขาลากมาเส้นนึง เราลากมาเส้นนึง นี่คือเหตุที่ต้องมี MOU 44 เพื่อไปมีกรรมการทั้ง 2 ประเทศ แล้วหาข้อยุติให้ได้ว่าทำอย่างไร  ถ้ายังไม่เห็นพ้องกันก็เจรจากันต่อไป แบ่งประโยชน์เท่ากัน หรือประเทศไหนควรได้มากกว่าน้อยกว่า นี่ก็เป็นการเจรจาของคณะกรรมการ

"ปี 2515 กัมพูชาตีเส้นมา ปี 2516 ไทยก็ตีเส้น เขาตีเฉียงมาทางเราเยอะ เราก็ตีลงไปข้างล่าง ซึ่งการตีของ 2 ประเทศไม่เท่ากันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน ก็ต้องมาคุย การมาคุยก็กำหนดกรอบ MOU 44 เพื่อให้มาคุยว่าจะหาบทสรุปอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อน แต่ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ก็ต้องคุยต่อไป ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องคุยรอบ 2 รอบ 3 รอบ 4 ระหว่างเจรจาก็ดูว่าจะมีทางคุยในเรื่องของการพัฒนาร่วมพัฒนาพื้นที่ร่วม หรือหาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้าได้จะแบ่งปันผลประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นอย่างไร สุดท้ายก็ตกที่คำว่าการเจรจา ไปจนกว่าจะได้"