svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดเอกสาร บันทึกสองรมต."ไทย-กัมพูชา"ลงนาม กรุยทางก่อน"แพทองธาร"เยือน

การเดินทางทางไปเยือนกัมพูชา ของ"อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯและรมว.มหาดไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่ามีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเอกสารบันทึกการประชุม ที่ รมต.สองชาติร่วมลงนาม เนื้อหาเอกสารมีข้อตกลงอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

เรียกได้ว่า กลายเป็นประเด็นให้จับตาขึ้นมาทันที จากกรณีที่ "นายไพศาล พืชมงคล" อดีตกรรมการรผู้ช่วยรองนายกฯ ( พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ) และนักกฎหมายอิสระ ได้โพสต์ข้อความ ว่า เมื่อเร็วๆนี้"นายอนุทิน  ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้เดินทางไปกัมพูชา พร้อมกับมีการหารือ การปักปันเขตแดนด้วยนั้น โดยเฉพาะมีการกล่าวไปถึง หลักเขต ที่ 72 และ 73 ซึ่งโยงไปพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เกาะกูดด้วยนั้น 

"เนชั่นทีวี" จึงได้ตรวจสอบ ที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว พบว่า 
 
1.เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 หรือสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกและรมว.มหาดไทย ได้นำคณะเข้าพบเยี่ยมคารวะ "สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต"(Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ Peace Palace ทำเนียบรัฐบาล กรุงพนมเปญ ในโอกาสที่"นายอนุทิน" นำคณะเข้าร่วมการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8  

"นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกและรมว.มหาดไทย ได้นำคณะเข้าพบเยี่ยมคารวะ "สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต"(Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ Peace Palace ทำเนียบรัฐบาล กรุงพนมเปญ

2.หลังการเข้าพบ "นายอนุทิน" เปิดเผยว่า  "การเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ได้นำความปรารถนาดีจาก "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร"  นายกรัฐมนตรี มายังนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและคณะด้วย เพื่อเป็นการยืนยันในความปรารถนาดีต่อกันระหว่าง 2 ประเทศ โดย น.ส.แพทองธาร ได้ฝากเยี่ยมเยียนและกล่าวว่าในโอกาสที่เหมาะสมนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเยือนกัมพูชาด้วยตนเองเนื่องด้วยมีแผนการเยือนอยู่แล้ว" 

"นี่คือการส่งสารจาก"อนุทิน" ต่อนายกฯกัมพูชา ว่า "นายกฯแพทองธาร" มีกำหนดการจะมาเยือนกัมพูชาแน่นอน"

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ยังได้สื่อสารต่อนายกฯฮุนมาเนต กัมพูชา ด้วยว่า แพทองธาร นายกฯไทยจะเดินทางมาเยือน

3. "สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา  กล่าวว่า " ก่อนหน้านี้ ได้พบหารือแบบทวิภาคีกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ของไทยในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว แล้ว ก็รอการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อสานต่อความร่วมมือในประเด็นที่ได้หารือให้เกิดเป็นรูปธรรม และด้วยความสัมพันธ์อันดีด้านชายแดนเป็นสามารถพัฒนาการค้าชายแดนให้เป็นจุดแข็งร่วมกัน

"เป็นการตอกย้ำ ผ่านนายกฯกัมพูชาว่า ก่อนหน้านี้ นายกฯแพทองธาร ได้เคยหารือทวิภาคีกับนายกฯกัมพูชามาแล้วระดับหนึ่ง และจะมาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ "

 

ท่ามกลางคำถาม ในการหารือระดับทวิภาคี ของ"นายกฯแพทองธาร"กับ "ฮุนมาเนต" นายกฯกัมพูชา  มีวาระอื่นใด มากกว่าที่ นายกฯกัมพูชา และ รองนายกฯอนุทิน เปิดเผยผ่านสื่อตามข้างต้นหรือไม่  

โดยเฉพาะ ประเด็นร้อนเกี่ยวกับ"ปมพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ตามที่"นายไพศาล พืชมงคล" โพสต์แสดงความเห็นไว้ ?!? 

 

อนุทิน พบ ซอร์ ซกคา รองนายกฯและรมว.มหาดไทยกัมูชา. ระหว่างการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 8 ที่พนมเปญ วันที่ 24 ต.ค.67

 

อย่างไรก็ตาม  "เนชั่นทีวี" ได้ตรวจพบ บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8  ที่นำโดย "นายอนุทิน" ในฐานะรมว.มหาดไทย มาประชุมเจรจา กับทางฝ่ายกัมพูชาที่นำโดย "นายซอร์ ซกคา" รองนายกฯและรมว.มหาดไทย กัมพูชา ในช่วงวันที่ 24 ตุลาคม หรือ หลังวันที่"นายอนุทิน" ได้เป็นตัวแทนนายกฯไทย เข้าพบ "นายกฯฮุนมาเนต" ก่อนหนึ่งวันนั่นเอง 

 

บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 22 - 24 ตุลาคม 2567 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้จัดทำเป็นเอกสารภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวม 29 หน้า และให้ทั้งสองลงนามบันทึกร่วมกัน

หากแต่ปรากฎอยู่ที่หน้า 7 ข้อ 8.7.2  การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ 

บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8

ส่วนหนึ่งใน บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 จาก 29 หน้า

บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 ที่เป็นเอกสารฉบับภาษาอังกฤษ

บันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 โดยให้ สองรมต.ไทย-กัมพูชา ลงนาม

 

- ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา และดำเนินการตามข้อที่ 5 ของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี พ.ศ.2543 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543


-ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชน เพื่อดำรงรักษาเขตแดนและเพื่อปฏิบัติตามระเบียบชายแดนที่มีอยู่ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตามบริเวณชายแดน


- ทั้งสองฝ่ายยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะไม่นำเอาประเด็นเส้นเขตแดนมากระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และเห็นชอบที่ทั้งสองฝ่ายควรจะงดเว้น/ระงับ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่จะละเมิดเขตแดนที่มีอยู่แล้ว ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้น และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัว โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาในระดับพื้นพื้นที่อย่างสันติวิธีและรวดเร็ว  หากความขัดแย้งยังไม่สามารถยุติลงได้ในระดับพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายจะรายงานรัฐบาลของตนตามลำดับ


- ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าในการยืนยันลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริง  ณ บ้านท่าเส้น จังหวัดตราด - บ้านทมอดา จังหวัดโพธิสัต และความสำเร็จของการสำรวจเก็บรายละเอียดภูมิประเทศร่วม ณ หมู่บ้านโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว และบ้านเปรยจัน อำเภอโอโจรว จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย


- ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อผลของการประชุมคณะปฏิบัติงานไทย - กัมพูชา (Operational Group: OG) ครั้งที่ 10 และครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ณ กรุงพนมเปญ และ เมื่อวันที่  11 กรกฎาคม 2567  ณ เมืองเสียม ราฐ ตามลำดับ และผลของการประชุมคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Technical Sub-Commission : JTSC) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองเสียมราฐ


- ทั้งสองฝ่ายขอให้หน่วยงานของจังหวัดชายแดนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนการทำงานของชุดสำรวจและจัดทำหลัดทำหลักเขตแต่นร่วมของทั้งสองทั้งสองประเทศ


เนื้อหาบันทึกข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จากบันทึกการประชุม 29 หน้า ที่มีการลงนามร่วมกัน ระหว่าง"นายอนุทิน" รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ของไทย กับ "นายซอร์ ซกคา" รองนายกฯและรมว.มหาดไทย กัมพูชา ซึ่งเห็นได้ว่า ประเด็นการจัดทำหลักเขตแดนสองฝ่าย มีการทำบันทึกร่วมกันด้วยเนื้อหาอย่างระมัดระวัง


โดยเฉพาะ ข้อความ ที่ระบุว่า "ทั้งสองฝ่ายยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะไม่นำเอาประเด็นเส้นเขตแดนมากระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และเห็นชอบที่ทั้งสองฝ่ายควรจะงดเว้น/ระงับ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่จะละเมิดเขตแดนที่มีอยู่แล้ว ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้น และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัว โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาในระดับพื้นพื้นที่อย่างสันติวิธีและรวดเร็ว  หากความขัดแย้งยังไม่สามารถยุติลงได้ในระดับพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายจะรายงานรัฐบาลของตนตามลำดับ"

กล่าวได้ว่า การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของ "นายอนุทิน" และพบ"นายกฯกัมพูชา" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโอกาสประชุม คณะผู้ว่าฯชายแดนไทย-กัมพูชาครั้งที่ 8  คือสัญญาณนำร่อง ก่อนที่ "นายกฯแพทองธาร" กับ "ฮุนมาเนต นายกฯกัมพูชา" จะได้พบกัน

และคงหนีไม่พ้นการเจรจาหารือ ประเด็นร้อนพื้นที่ทับซ้อน อย่างเป็นทางการและ เปิดเผย โดยจะจบลงด้วยแนวทางใด