29 ตุลาคม 2567 ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีรายงานว่า พนักงานสอบสวน ปปง.
ได้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลขอยึดทรัพย์สิน "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล" เเละพวกรวม 3 รายจากการกระทำผิดมูลฐานเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน ตกเป็นของเเผ่นดิน ในส่วนที่เกี่ยวพันกับ เว็บพนันเครือข่ายของ นางสาวธันยนันท์หรือสุชานันท์หรือมินนี่
โดยภายหลังรับสำนวนทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มอบหมายให้อัยการรับผิดชอบพิจารณาสำนวนในการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
มีรายงานว่า ในส่วนของ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" เป็นบัญชีเงินฝากมูลค่าเกือบ 5 แสนบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงานปปง. ได้ประชุมแล้วมีมติให้ยึดอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ กลุ่มผู้ต้องหาในคดีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของเเผ่นดินจะต้องกระทำก่อนครบกำหนด 90 วันนับจากวันที่มีคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นไว้ชั่วคราว
มีรายงานว่าสำหรับเงินดังกล่าวเป็นเงินที่มีการนำเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ไปชำระเบี้ยประกันบางส่วน ตามสัญญาประกันชีวิตของ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล" และภริยา ต่อมาผู้เอาประกันได้เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต รวม 3 รายการ มูลค่าประมาณ 4.8 แสนบาท ไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
กางไทม์ไลน์กว่าจะขอริบทรัพย์"บิ๊กโจ๊ก"
กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เผยแพร่เอกสาร การประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 10/2567 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสั่งยึดทรัพย์"พลตำรวจเอกสุรเชชษฐ์ หักพาล" และนางศิรินัดดา หักพาล ภรรยามูลค่ารวม 4.8 แสนบาท หลังตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์เพื่อนำไปชำระเบี้ยประกันชีวิต
3 สิงหาคม 2566 ปปง. ได้รับรายงานจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ รายการดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงินนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์กับพวก (คดีเว็บพนันมินนี่)
18 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 10/2566 มีมติมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด
9 มกราคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ยึด-อายัดทรัพย์สินนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก รวม 255 รายการ (ย.2/2567)
12 มีนาคม 2567 การประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 3/2567 มีมติส่งเรื่องที่พิจารณาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ไปยังอัยการเพื่อฟ้องยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน(อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 51/2567
)
10 เมษายน 2567 ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 4/2567 มีมติเพื่อยึดอายัดทรัพย์นายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก เพิ่ม 4 รายการ เเละวันเดียวกัน พนักงานสืบสวนได้เสนอเรื่องเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมยึด-อายัดทรัพย์สิน (กรมธรรม์ประกันภัย) ของ "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์และภรรยา"
“เนื่องจากมีเส้นทางการเงินการโอนจากบัญชี นายครรชิต สองสมาน, นางสาวเบญจมิน แสงจันทร์ และนายพุฒิพงษ์ พูนศรี (บัญชีม้าผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ ซึ่งพ.ต.ท. คริษฐ์ นำมาใช้) เเต่...ไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม (เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ปปง. แจ้งว่าให้เสนอวาระนี้เข้าที่ประชุมในเดือนพฤษภาคม2567)”
23 เมษายน 2567 "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ปปง.เพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้มีการสอบถามข้อมูลกับตนก่อนจะมีคำสั่งใดๆ (สังเกตห้วงเวลาที่บิ๊กโจ๊กขยับในจังหวะนี้)เพราะพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุว่า “ตนเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และขอโอกาสชี้แจง” เเละพบว่า สำนักเลขานุการ ปปง. ลงรับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เลขรับ 4614 เวลา 14.31 น.
24 เมษายน 2567 มีรายงานว่า "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และภรรยา" ได้ทำการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกฉบับจากบริษัทประกันภัย ยอดเงินเวนคืนประมาณ 10 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีส่วนตัว
ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 5 มีการนำเรื่องการยึดทรัพย์กรมธรรม์ประกันชีวิต พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และภรรยามาพิจารณาเเละนำเรื่องที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 มาพิจารณาประกอบ โดยที่ประชุมจึงมีมติให้ตรวจสอบเพิ่มเติม
กลางเดือนพฤษภาคม 2567 การประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. ตรวจสอบเพิ่มเติมเห็นว่า "หนังสือร้องเรียนของ บิ๊กโจ๊กไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ ปปง." เพราะมีพยานหลักฐานว่า "เงินที่จ่ายเบี้ยประกันชีวิตโอนมาจากบัญชีม้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ และบัญชีโอนแถวแรก ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดไว้แล้วด้วย" จึงเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเป็นวาระการประชุมในครั้งที่ 7 (เดือนมิถุนายน) โดยเลขาธิการ ปปง. (นายเทพสุ บวรโชติดารา)มีบันทึกแจ้งให้นำรายการประชุมครั้งที่ 5 ประกอบ
27 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า "บิ๊กโจ๊ก"ดำเนินการโอนเงินจากการเวนกรมธรรม์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เข้าบัญชีใหม่”
11 มิถุนายน 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 7/2567 มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 5
ปลายเดือนมิถุนายน 2567 มีการประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. นำรายงานการประชุมครั้งที่ 5 ที่ผ่านการรับรองมาประกอบรายงานการอายัดทรัพย์สินของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และภรรยา เพื่อประมวลเสนออายัดทรัพย์ฯ ไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเข้าวาระการประชุมครั้งที่ 9 (9 กรกฎาคม 2567)
8 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ "ร้องขอความเป็นธรรม" ถึงเลขาธิการ ปปง. เรื่อง "โปรดรับพยานหลักฐานไว้ประกอบการพิจารณา”เเละระบุว่า "หากมีการอายัดทรัพย์จะทำให้ตนเสียหาย ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.
9 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 9/2567 ที่ประชุมมีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบเพิ่มเติม“เพื่อให้ความเป็นธรรม”โดยให้ "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" ยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน
11 กรกฎาคม 2567 ปปง. มีหนังสือถึง "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" ให้ส่งเอกสารตามที่อ้างภายใน 15 วัน
6 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม มีมติเอกฉันท์ว่า "มีข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน(คดีเว็บพนันออนไลน์)ไปชำระเบี้ยประกันบางส่วนตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตของ"พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" และภรรยา และต่อมาผู้เอาประกันได้เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้น จึงถือได้ว่าเงินที่ได้จากการเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าวบางส่วนนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" และภรรยารวม 3 รายการมูลค่าประมาณ 4.8 แสนบาท ไว้เป็นการชั่วคราวทั้งนี้ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542”
22 ตุลาคม 2567 มีรายงานว่า พนักงานสอบสวน ปปง.ได้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลขอยึดทรัพย์สิน "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล"
สิริรวมกระบวนการตั้งแต่ ปปง. ดำเนินการมาเกือบหนึ่งปี โดยล่าสุดอยู่ระหว่าง "อัยการฯ"พิจารณาสำนวนส่งศาลฯขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน