svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สว.ชิบ"ถกเดือดปม "ดิ ไอคอน" ข้องใจ โยกคดีใส่มือ"ดีเอสไอ" หวั่น "บอส" รอดคุก

"สว.ชิบ" ข้องใจ คำสั่งจากใคร ทำให้รัฐบาลโยกคดี "ดิ ไอคอน" ใส่มือ "ดีเอสไอ" หวั่นสรุปคดีไม่ทันเวลาเปิดโอกาสบรรดา"บอส" รอดคุก

28 ตุลาคม 2567  ในการประชุมวุฒิสภา "นายมงคล สุระสัจจะ" ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือ  โดย"นายชิบ จิตนิยม"สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถาม"นางสาวแพทองธาร ชินวัตร"นายกรัฐมนตรี  ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหา ธุรกิจเครือข่าย "ดิ ไอคอน กรุ๊ป" โดยนายกรัฐมนตรี มอบให้ "นายประเสริฐ จันทรรวงทอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้มาตอบกระทู้แทน

"นายชิบ" อภิปรายว่า ความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย "ดิ ไอคอน กรุ๊ป" ยังลุกลามบานปลายไม่หยุด ตัวเลขจากสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางเมื่อค่ำวานนี้ ( 27 ตุลาคม 2567 ) สรุปว่าระหว่างวันที่ 10-27 ตุลาคม  มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 9,472 คน  ความเสียหายเกือบ 3,000 ล้านบาท สอบปากคำผู้เสียหายแล้ว 5,999 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,728 ล้านบาท

\"สว.ชิบ\"ถกเดือดปม \"ดิ ไอคอน\" ข้องใจ โยกคดีใส่มือ\"ดีเอสไอ\" หวั่น \"บอส\" รอดคุก

"พิษของดิ ไอคอน ระบาดไปเกือบ 20 ประเทศ เอเชียก็มาก ยุโรปก็เยอะทั้งในจีน เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี เอสโตเนีย สวีเดน ลักเซมเบิร์ก แคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงเขตปกครองพิเศษมาเก๊าและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ และพำนักอยู่ที่นั่น ซึ่งนอกจากจะลงทุนด้วยตัวเองแล้วยังชักชวนญาติชาวต่างชาติให้มาร่วมเปิดบิลลงทุนกับ ดิ ไอคอน รวมความเสียหายตรงนี้อีกกว่า 20 ล้านบาท" นายชิบ กล่าว  

"วุฒิสมาชิกจากสายสื่อมวลชน"  กล่าวอีกว่า วันนี้คดีจะถูกส่งไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ "DSI" กระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท และผู้เสียหายมากกว่า 100 คน โดยนาย"ภูมิธรรม เวชยชัย"รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ประชาชนมั่นใจใน "DSI" สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ "ปปง." และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะทำงานร่วมกันเร่งทำคดีให้เร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่การโยนความรับผิดชอบ แต่เป็นการมอบตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี จึงไม่ให้เข้ามาเป็นคณะทำงานสอบสวน แต่ให้สนับสนุนการสอบสวนให้เกิดความยุติธรรม
 
"นายชิบ" อภิปรายอีกว่า ท่ามกลางคำถามและข้อโต้แย้งของคนในวงการตำรวจและทนายความที่คร่ำหวอดกับเรื่องทำนองนี้ว่า ตามข้อเท็จจริงเมื่อ "DSI"รับเป็นคดีพิเศษแล้วก็ต้องรับทุกเรื่องของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลทั้งหมด แต่ก็เกิดความคลางแคลงใจว่า "DSI"จะสามารถสรุปหรือปิดคดีได้ภายในระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 80 วันได้หรือไม่ เพราะถ้าปิดคดีได้ไม่ทันเวลา ก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด

 

"นายชิบ จิตนิยม" สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนได้ตั้งกระทู้ถาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหา ธุรกิจเครือข่าย "ดิ ไอคอน กรุ๊ป"

 

"จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การโยกคดีไปอยู่ในความรับผิดชอบของ DSI ในครั้งนี้ มีคำสั่งจากใครหรือไม่ที่เห็นช่องว่าจะทำให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ รอด แม้ว่า DSI จะแถลงว่า DSI รับเป็นคดีพิเศษเฉพาะความผิดอาญาฐานฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่โอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ยังคงสอบสวนความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดอื่น ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะรับดำเนินการเรื่องทรัพย์สิน" 

วุฒิสมาชิกจากสายสื่อมวลชน กล่าวอีกว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อ 1 มิถุนายน 2561 ประกอบธุรกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ก่อนขยายทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท เมื่อ 9 ธันวาคม 2563 มีกรรมการเพียงคนเดียว คือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ “บอสพอล” 

ผลประกอบการ 5 ปีล่าสุด ของ ดิ ไอคอน พบว่าในปี 2564  งบการเงินพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด ตัวเลขสูงกว่า 4,000 ล้านบาท แตกต่างจากปี 2562 และ 2563 ที่มีรายได้เพียงแค่ปีละ 300 ล้านบาทเศษ โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ดิ ไอคอน มีรายได้สูงระดับพันล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีผู้ที่เป็นแม่ข่าย หรือที่เรียกแทนตัวเองว่า "บอส" โปรโมตตัวเองผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น มีการให้สัมภาษณ์ในรายการต่าง ๆ จนถึงการ Tie-In การขายของในช่วงรายการแนะนำสินค้าตามสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ โดยวิธีหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ การขายคอร์สสอนขายของออนไลน์ ราคาถูก 97/98/99 บาท

 

"นายชิบ จิตนิยม" สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนได้ตั้งกระทู้ถาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหา ธุรกิจเครือข่าย "ดิ ไอคอน กรุ๊ป"

 

"ประเด็น ดิ ไอคอน เป็นเรื่องใหญ่ที่กลบข่าวสำคัญๆมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ทำให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแม่ข่ายที่แสดงตนเป็นผู้เสียหาย กระบวนการกรรโชกทรัพย์ หรือแม้แต่บรรดาคนที่อาสาเป็นปากเสียงให้กับเหยื่อหรือผู้เสียหายที่ตอนนี้หลายคนกำลังถูกฟ้อง หรือถูกตั้งข้อสงสัยเสียเอง ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ ที่รัฐบาลต้องแก้ไขว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถฝากความหวัง ความไว้วางใจในเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐโดยไม่ต้องยืมมือคนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงให้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อมีเรื่อง ความเดือดร้อนก็จะตกอยู่กับประชาชนอยู่วันยังค่ำ" นายชิบ กล่าว  

วุฒิสมาชิกสายสื่อมวลชน กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้คนคลั่งแคลงใจมากมายหลายประเด็น และเชื่อว่าอยากจะถามรัฐบาลเพื่อไขข้อข้องใจและขอให้แก้ปัญหาให้ ดังนั้นจึงขอเป็นตัวแทนของประชาชนในการตั้งคำถาม ว่า 
 
1. รัฐบาลจะมีมาตรการควบคุม ป้องกัน หรือกลั่นกรองการใช้สื่อและแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆอย่างไรไม่ให้มีการโฆษณาที่เป็นการหลอกลวง ปิดบัง ซ่อนเร้น หรืออำพราง หลอกล่อให้ประชาชนลงทุนผ่านธุรกิจขายตรงหรือธุรกิจอื่นๆโดยเฉพาะการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ
 
2. กสทช.ในฐานะเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการในการกำกับดูแลกิจการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
 
3. รัฐบาลมีมาตรการหรือแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไรบ้าง

 

"ประเสริฐ"  แจงเหตุโอนคดีThe Icon ให้ดีเอสไอ 


ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรีมอบหมาย "นายประเสริฐ จัทรรวงทอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตอบกระทู้ถามว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์ม Social Media ที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านธุรกิจขายตรง โดยได้หยิบยกกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติการขายตรง ซึ่งในกรณีของ The Icon เป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียนไว้  ,พระราชบัญญัติการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และหลอกลวงประชาชนโดยชักชวนให้มีการสมัครสมาชิก ในธุรกิจขายตรงและนำเงินมาลงทุน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

ขณะที่เรื่องการใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณาก็มีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องและได้กำกับดูแลอยู่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส กรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ผิดสังเกตหรือสงสัย ,สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย , กระทรวงสาธารณสุข ได้ดูแลในเรื่องของมาตรฐานสินค้าว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ , กระทรวงการคลังได้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานและป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจที่เรียกว่าแชร์ลูกโซ่ ส่วนกรณีของดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์  ต่างๆ สมาคมโฆษณา และผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงรวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการโฆษณาและตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด

ส่วนภารกิจของ กสทช.เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก และเป็นการตรวจสอบการกำกับในเรื่องของการออกอากาศเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลและข่าวสารที่มีความถูกต้อง ทั้งรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์และแจ้งแนวทางในการปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เพื่อให้เกิดความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องของการผิดกฎหมายและป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน กสทช.ยังได้ทำงานร่วมกับ อย.และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) และได้ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดต่างๆ 

ขณะที่กระทรวงดีอี เองก็ได้มีการ เฝ้าระวังเรื่อง พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดทางด้านคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 14 (1) ได้กำหนดลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไว้และเราได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด  อย่างไรก็ตามวันนี้ข้อมูลที่ทราบมีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 รายผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย และทางรัฐบาลเองได้มีการดำเนินการในการควบคุมเรื่องของการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง และเสนอให้มีการกำหนดให้มีมาตรการให้ชัดเจนยิ่งมากยิ่งขึ้น และ สร้างมาตรฐานในการโฆษณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

วันนี้เรื่องการอายัดทรัพย์สินการดำเนินการต่างๆขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน วันนี้ทราบล่าสุด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะโอนคดีหลักเข้าสู่ "DSI" เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนเรื่องการเยียวยา ปปง.จะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป 


จากนั้น "นายชิบ" ย้ำถามถึงมาตรการที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนไว้วางใจการทำงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ เพราะประชาชนเป็นผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากจากกระบวนการต่างๆ  โดย"นายประเสริฐ" ตอบว่า กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งได้มีอนุของคณะขึ้น2ชุด ประกอบด้วยชุดแรกนำสืบค้นหาข้อมูลทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา และอนุชุดที่ 2 คือการดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ในอนาคต

"วันนี้อนุทั้ง 2 คณะ จะเข้ามารายงานกับคณะทำงานชุดใหญ่เพื่อดำเนินการ อย่างเข้มงวดในเรื่องนี้ต่อไปหากพบว่าเรื่องนี้ใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเห็นว่ากระทบต่อประชาชนในวงกว้างในอนาคต หรืออาจจะมีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต"