นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กว่า 50 จังหวัด โดยก่อนหน้านี้ มีการอนุมัติเงินฟื้นฟูปัญหาต่าง ๆ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 9, 000 บาทต่อครัวเรือนไปแล้ว โดยรัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ฟื้นฟูชีวิต และฟื้นรายได้ จำนวนครัวเรือนละ 10,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจ รวมไปถึงการยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ในพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะทราบข้อมูลทั้งหมด พร้อมยังมอบหมายกระทรวงการคลัง มีมาตรการด้านภาษี เพื่อลดค่าใช้จ่ายตลอดจนสินเชื่อ เพื่อฟื้นฟูที่พักอาศัย และธุรกิจต่าง ๆ คือ การยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลเท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล และการยกเว้นภาษีเงินรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ได้รับการช่วยเหลือ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ตามวงเงินที่ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ 50,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี โดยแต่ละรายจะมีวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดสามารถสอบถามได้จากธนาคารที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ทั้งธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ จำนวน 16 แห่งที่ร่วมโครงการ รวมถึงยังมีโครงการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บยส.ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยวงเงินต่อราย 10,000-2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสิน ยังมีการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม โดยจะมีการพักชำระหนี้เงินต้น โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถือบัตรเครดิต จะมีการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำ เป็น 3% ใน 3 รอบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องชำระมากกว่า 3% หรือชำระเต็ม, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับโครงการเสริมสภาพคล่อง และการอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกกระทรวงการคลัง จะไม่เก็บอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ ที่ธนาคารเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี
ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รายการลงทุน ในการซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR 2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
ด้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.จะมีมาตรการในการช่วยเหลือด้วย รวมถึงธนาคารอิสลาม และอีกหลายธนาคาร จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือด้วย
โฆษกรัฐบาล ยังเปิดเผยอีกว่า มาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะต้องนำกลับเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คือ การออกระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะมีการกำหนดให้รายจ่ายค่าอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หรือการก่อสร้างต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการของกระทรวงการคลัง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่าที่ ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (15 ต.ค.) ยังมีการหารือถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีศึกษาอย่างเร่งด่วน ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะสามารถเริ่มต้นได้เมื่อใด เพื่อเป็นการลดค่าครองชีพประชาชน