svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา ค้าน-รัฐบาล ชงรายงานนิรโทษกรรม "จุรินทร์" เตือนอย่าสุมไฟเพิ่ม

"จุรินทร์" เตือนรัฐบาล ยังไม่ควรเร่งเอาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมเข้าสภาเพราะล่อแหลม รัฐบาลมีปัญหามากแล้วอย่าสุมเพิ่มเข้ามาอีก 

14 ตุลาคม 2567  "นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นกรณีอาจมีการนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการเรื่องแนวทางการออก พรบ.นิรโทษกรรมเข้าสภา ในช่วงสัปดาห์นี้ว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการเรื่องแนวทางการออก พรบ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องล่อแหลม เนื่องจากได้มีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรมความผิดตาม ม.112 เข้าไปด้วย ซึ่งยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันอยู่มาก ทั้งในหมู่พรรคการเมือง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันและประชาชน หากสภาพิจารณาแล้วมีมติเห็นควรส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ปัญหาก็จะตกไปอยู่กับรัฐบาล เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหามากแล้วทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ จนแก้กันไม่หวาดไม่ไหว จึงเห็นว่ายังไม่ควรเอาเรื่องนี้สุมเพิ่มเข้าไปอีก 

 

ประธานสภาฯ โยน “วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน” เคาะนำรายงานนิรโทษกรรม

 

"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา"  กล่าวถึงกรณีการประชุมสภาเพื่อพิจารณา "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" จะสามารถเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ได้เลยหรือไม่ว่า เห็นว่าในวันพรุ่งนี้ (15 ต.ค.) วิปรัฐบาลจะหารือกัน รวมถึงวิปฝ่ายค้านก็จะหารือด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรเป็นเรื่องเร่งด่วนได้ เพราะว่าสภาได้บรรจุในวาระแล้ว เป็นเรื่องของกรรมาธิการที่จะพิจารณาแนวทาง ถ้าแนวทางที่กรรมาธิการเสนอมา แล้วที่ประชุมรับได้ก็จะส่งให้ฝ่ายที่พิจารณากฎหมายประชามติดำเนินการต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็ดำเนินการควบคู่อยู่แล้ว โดยกรรมาธิการชุดหนึ่งก็พิจารณาแนวทาง อีกชุดหนึ่งก็พิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งตัวแนวทางพิจารณานั้นคาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้ แต่ตัวที่ยกร่าง "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" จะทันในสมัยนี้หรือไม่

ฝ่ายการเมืองตบเท้ารำลึก เหตุการณ์14  ตุลาฯ

 

วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว คณะกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ครบรอบ 51 ปี ได้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา ทั้ง พุทธ อิสลาม และคริสต์ จากนั้นจะมีการวางพวงมาลา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ  , นางอังคณา นีละไพจิต สมาชิกวุฒิสภา(สว.) และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม และคณะก้าวหน้า

 

นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค ,ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ,นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และตัวแทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

 

โดย"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ได้ย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง

จับตา ค้าน-รัฐบาล ชงรายงานนิรโทษกรรม  \"จุรินทร์\" เตือนอย่าสุมไฟเพิ่ม
       
ด้าน "นายสมคิด เชื้อคง" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง  กล่าว ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพลังของผู้มีอุดมการประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประเทศชาติปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความสามัคคีความปรองดองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกันโดยรับฟังเสียงข้างน้อย และเคารพความเห็นต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้แสดงออก ตามความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และช่วยกันจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ความรัก ความสมานฉันท์ตลอดไป 
 
ขณะที่"นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" สส.บัญชีรายขื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนในวัย 37 ปีถ้าจะให้มากล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเกิดไม่ทัน บอกได้ว่าตนเดียงสาทางการเมือง คงไม่สามารถที่จะรำลึกถึงความคับแค้นใจของพี่น้องได้  แต่ในยุคนี้สิ่งที่ตนมีร่วมกับทุกคน คือเจตจำนงทางการเมือง ต้องการพัฒนาการเมืองประเทศในการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า แม้ตนไม่ได้อยู่ร่วม ต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลา 16 ด้วย แต่คิดว่าเรายังไปไม่ถึง เช่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วันนี้พวกเราก็ต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ ยังมีบางอย่างที่ประสบปัญหาและอุปสรรคการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้และถูกเล่นงานกันแกล้งคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออีกหลายกรณี 
       จับตา ค้าน-รัฐบาล ชงรายงานนิรโทษกรรม  \"จุรินทร์\" เตือนอย่าสุมไฟเพิ่ม
"นายณัฐพงศ์"กล่าวต่อว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ตอนนี้หลายฝ่ายหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐรัฐบาลเราเห็นด้วยตรงกันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประชามติเพียงแค่สองครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ติดปัญหาอุปสรรคในการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เชื่อว่าถ้าเราเดินหน้าการทำประชามติเพียงแค่สองครั้งเราก็สามารถทำรัฐธรรมนูญได้ทัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า  ยืนยันว่าตนจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยทีาต่อสู้พวกเราก้าวเท้าสู่เส้นทางการเมืองมาลับคมหอก คมดาบ ขวากหนามต่างๆเพื่อเราจะได้พัฒนากระบวนการประชาธิปไตยให้ไปข้างหน้า