svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พร้อมพงศ์" ยก สถิติขาดประชุมสภา "บิ๊กป้อม"มากถึง 84 ครั้ง จี้ "ลาออก"

เข้าประชุมเป็น "ศูนย์" อ้างลาติดภารกิจ  เป็นเพียงฉากบังหน้าฉ้อฉล เตรียมยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบคุณสมบัติ"บิ๊กป้อม" ตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ไม่คุ้มภาษีประชาชน แนะลาออก เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ทำหน้าที่แทน

25 กันยายน 2567  "นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์" อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีต สส.พรรคเพื่อไทย นำเอกสารหลักฐานการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาแสดงต่อสื่อมวลชน กรณีขาดการประชุมของพลเอกประวิตร ว่า ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีให้ประเทศ ยืนยันว่าไม่มีอคติ และสร้างหลักฐานใส่ร้ายป้ายสีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาและมีเอกสารทางราชการจากสำนักงานเลขาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการขาดการประชุมของพลเอกประวิตร  ซึ่งตัวเองมีสิทธิ์ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ และต้องขอบคุณนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ออกกฎระเบียบการทำหน้าที่ สส. ทั้งในเรื่องการใช้บัตรแทนกัน  ระเบียบการเข้าประชุมที่ต้องชื่นชมในการออกระเบียบแบบนี้มา

โดยเฉพาะการแตะบัตรลงชื่อเข้าประชุมในเครื่องตรวจบัตร ที่ไม่สามารถทำแทนกันได้ โดยระเบียบในข้อ 14 ระบุไว้ว่า สส.ต้องเสียสละอุทิศตัวให้กับการประชุมสภาฯ นอกจากจะมีเหตุเจ็บป่วยหรือเกิดเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องขาดการประชุม 

"นายพร้อมพงศ์" กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎร เป็น 1 ใน 3 เสาหลักในการบริหารประเทศที่ทำหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย ซึ่งการกระทำพลเอกประวิตร ขัดทั้งระเบียบของสภาผู้แทนราษฎร และยังขัดกับระเบียบของพรรคพลังประชารัฐด้วย

"นายพร้อมพงศ์"  ยังได้นำสถิติการเข้าประชุมที่ผ่านมาของพลเอกประวิตร ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ถึง 19 กันยายน 2567 ที่มีการประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง แต่พลเอกประวิตร ขาดประชุม 84 ครั้ง

\"พร้อมพงศ์\" ยก สถิติขาดประชุมสภา \"บิ๊กป้อม\"มากถึง 84 ครั้ง จี้ \"ลาออก\"

พร้อมยกตัวอย่างแค่ช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567 ช่วงระยะเวลา 3 เดือน มีการประชุม 27 ครั้ง แต่การมาประชุม ของพลเอกประวิตรเป็นศูนย์ และ ช่วงวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ถึง 3 เมษายน 2567 มีการประชุม 33 ครั้งมาประชุม 4 ครั้ง ขาดประชุม 29 ครั้ง ซึ่งในใบลาอ้าง“ติดภารกิจ” มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มภาษีประชาชน ไม่ได้ทำหน้าที่ ตัวแทนประชาชนอย่างเต็มที่

"นายพร้อมพงศ์" ยังตั้งข้อสังเกตและฝากไปถึงคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบว่าการลาแบบนี้อาจเป็นฉากบังหน้า ฉ้อฉล ส่วนตัวจึงมองว่าการกระทำแบบนี้ขัดกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และที่ผ่านมายังมีหลักฐานว่าการขาดประชุมแต่ละครั้งของพลเอกประวิตร ไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ อย่างการเปิดบ้านป่ารอยต่อให้บุคคลเข้าอวยพรวันเกิด ,ขาดประชุมแต่ไปประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ไม่มาทำหน้าที่ สส. และ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ลาประชุมไปปิดทองฝังลูกนิมิต

"นายพร้อมพงศ์" กล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่กล่าวมามองว่าประเทศชาติและประชาชนเสียผลประโยชน์จากการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน โดยเฉพาะกฎกติกาของระเบียบสภาผู้แทนราษฎรที่มีระเบียบปฏิบัติกำหนดไว้ ซึ่ง"พล.อ.ประวิตร" จะต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม ก่อนเปรยสุภาษิต "อย่าให้ปลาตายตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง" โดยเรื่องนี้ไม่สามารถปล่อยผ่านได้ ต้องตรวจสอบ เพราะหาก สส. 500 คน ทำแบบนี้ทั้งหมด ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ พร้อมเสนอให "พล.อ.ประวิตร" ลาออกเพื่อให้ สส.ลำดับถัดไปขึ้นมาทำหน้าที่แทน