svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โฉมหน้า"ครม.แพทองธาร" สำคัญน้อยกว่า จุดขาย"นายกฯ" 

"สติธร ธนานิธิโชติ" สแกนโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี "ครม.แพทองธาร" จุดแข็งจุดอ่อนอยู่ตรงไหน อะไรคือ "จุดขายครม."ที่ถูกร่อนตะแกรงมาตรฐานจริยธรรม

5 กันยายน 2567  โฉมหน้า "คณะรัฐมนตรี" ภายใต้การนำของ "แพทองธาร  ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี   ประกาศออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยนายกฯแพทองธาร จะนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน  ในวันศุกร์ที่  6 กันยายน  จากนั้นจะมีการประชุมครม.นัดพิเศษ วันที่ 6 กันยายน  เพื่อเห็นชอบร่างนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อที่ประชุมสภาฯราววันที่ 11-13 กันยายนนี้ หลังจากนั้นครม.คุณอุ๊งอิ๊ง จะมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์  

 

มุมมองของนักวิชาการต่อโฉมหน้า ครม. แพทองธาร เป็นอย่างไรบ้าง "ดร.สติธร  ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนโฉมหน้า "ครม.แพทองธาร" ผ่าน"เนชั่นทีวี" ว่า คล้ายชุดเดิม ในเรื่ององค์ประกอบ แตกต่างกันด้วยชื่อ ถ้าดูในเนื้อใน เป็นตัวแทนกลุ่มก๊วนที่อยูในพรรค ที่ส่งเข้ามา ที่ถูกสกรีนจริงๆ คือเรื่องคุณสมบัติ เพราะฉะนั้นแทบไม่แตกต่างในแง่ตัวรมต.หลายท่าน

 

"ดร.สติธร  ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

"เป็นเรื่องปกติ เขาไม่ได้ขายหน้าตาครม. เขาขายผู้นำรัฐบาล ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลคือนายกฯ  ส่วนนายกฯจะเลือกใช้ใคร จริงๆ ไม่ต้องนำมานั่งครม.ก็ได้ เพราะความสำเร็จ อาจมาจากคณะทำงานทีมงานที่ใกล้ชิดก็ได้" 

 

ร่อนตะแกรงตั้งครม.นาน สะท้อนภาวะผู้นำ

 

ส่วนการจัดตั้งครม.ครั้งนี้ มีการใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัตินาน สะท้อนอะไร "ดร.สติธร" บอกว่า ในแง่การจัดตั้งอาจยุ่งยากมากขึ้น มีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องคิดเยอะและใช้เวลาตั้งนาน 

 

"แต่ถ้าเราดูสภาพการณ์ทางการเมือง การให้ความร่วมมือ ทั้งจากสส.เพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ดูเหมือนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อาจสะท้อน สภาพการนำของนายกฯและรัฐบาลว่า สามารถคุมสภาพได้ คือไม่มีใครดื้อ ทั้งที่เขามีสิทธิดื้อก็ได้  ว่า พรรคนั้นพรรคนี้มีสิทธิจะส่งรายชื่อนั้นชื่อนี้ก็ได้โดยอ้างว่าพรรคมีมติแล้วซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงแน่ ต่อการตรวจคุณสมบัติ แต่ปรากฎว่าทุกคนยอมถอยหมด  ทั้งที่ผู้ต้องรับผิดชอบหากยึดคำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นหลัก คือ ตัวนายกฯ  บรรดาพรรคการเมืองอาจไม่ได้กระทบ เพราะไม่เช่นนั้น อาจมีคนไปร้องศาลรธน.ขอยุบพรรค ทั้งที่คำวินิจฉัย มีผลกระทบนายกฯเป็นหลัก พบว่า ไม่มีเคสดื้อนี้ออกมา"

 

โฉมหน้า\"ครม.แพทองธาร\" สำคัญน้อยกว่า จุดขาย\"นายกฯ\" 

ส่วนที่มีคำถามว่า บุคคลที่เคยเป็นรมต.มาหลายรัฐบาล บางคนยอมถอยรอบนี้แต่อีกบางส่วนก็ตกเป็นข่าวมีคุณสมบัติสุ่มเสี่ยง แต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรมต.  "ดร.สติธร"  กล่าวว่า แม้ผลจากคำวินิจฉัยศาลรธน. ทำให้บางท่านบอกว่า วิญญูชนเพิ่งเกิด ทำให้การตั้งรัฐมนตรีต้องระมัดระวังรอบนี้ ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับว่ากรณีคุณพิชิต  ชื่นบาน เป็นความผิดสำเร็จแล้วไม่ว่าเราจะบอกว่า คำสั่งศาลกับคำพิพากษาไม่เหมือนกันแต่สำเร็จแล้ว วิญญูชนถึงรู้  

 

แต่บางเรื่องอยู่ในชั้นสอบสวน อยู่ในชั้นตั้งกรรมการ ของ ป.ป.ช. ส่วนนี้ วิญญูชนอาจยังไม่รู้  และผลลัพธ์ ยังไม่เกิด แต่ว่า มีแค่ความสุ่มเสี่ยง ต่อให้ผลลัพธ์มาเกิดทีหลัง ถามว่า วันที่แต่งตั้ง นายกฯรู้หรือยังก็ยังเป็นความเสี่ยงที่พอสู้ได้ และสู้ด้วยกระบวนการว่า นี่ไง ตอนตรวจคุณสมบัติได้ทำรอบคอบแล้วนะ แล้วหน่วยงานต่างๆบอกได้ว่าอยู่ในขั้นตอนนี้นั้น ไม่มีปัญหา 


ถามว่ากรณี "ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า"  และ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" ถอยออกจากการแต่งตั้งรมต. แต่ยังมีอีกหลายคนพร้อมเสี่ยง "ดร.สติธร" กล่าวว่า คนที่ยอมถอย ค่อนข้างชัด สังคมจับจ้อง อันนี้วิญญูชนจะรู้เยอะ คือโอกาสที่ถูกเลือก และเป็นที่รับรู้ มีตำหนิ แต่ทำไมฝืนตั้ง แต่คนอื่น อาจยังเป็นลักษณะคลุมเคลือได้ ยังพอมีข้อต่อสู้ แต่คนชัดเจนที่ยอมถอย แล้วเขาค่อนข้างทรงอิทธิพล ทำไมเขายอม นั่นแสดงว่า ภาวะการนำของนายกฯ และพรรคแกนนำ ยังใช้ได้  

 

"อีกอย่างคนที่เขาถอย ไม่ได้เสียทั้งหมด ไม่ได้แปลว่า ถอยแล้วตำแหน่งนี้ไปตกสู่คนอื่น กลายเป็นว่า คุณพ่อไปคุณลูกมา คุณพี่ไปคุณน้องมา วนเวียนอยู่ตรงนี้ แสดงว่ายังไงเขาก็อยู่ในอำนาจได้ โดยไม่ต้องนั่งเก่าอี้เอง แต่ถามว่า พอไปบริหารกระทรวงนั้นๆ เขามีอำนาจเต็ม จะทำอะไรไม่ทำอะไร เพียงแต่ว่าคนเซ็นหนังสือทางการเป็นคนอื่นเท่านั้นเอง ที่เป็นคนในครอบครัว"

 

ถามว่า สภาพการเมืองไทยจะเป็นแบบนี้ไปนานไหม ทั้งการยอมถอยแต่ก็ยังส่งลูกหลานมานั่งตำแหน่งรมต. "ดร.สติธร" ยอมรับว่า สภาพการเมืองไทยเป็นแบบนี้ ภายใต้รัฐบาลนี้ จนหมดสมัยรัฐบาลนี้ จนกว่ามีการเลือกตั้งใหม่ ประตูในการเปลี่ยนถึงจะเกิด เพราะว่า จนถึงวันนั้น เขาถึงจะได้รู้ว่า ในสิ่งที่เขาตัดสินใจการเมืองที่ดีไซน์แบบนี้ มันตอบโจทย์ประชาชนจะเอาด้วยไหม ซึ่งกว่าเขาจะรู้ เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปแล้ว ถ้าเกิดผล ออกมาเขาอยู่ในอำนาจกลับมาได้ แสดงว่า ยังใช้ได้ ประชาชนไม่ได้ลงโทษรุนแรงเกินไป ยังพอรับได้ 

"ถ้าเกิดออกแบบครม.หน้าตาแบบนี้  แล้วทำงานได้ ประชาชนโอเค รับได้ ก็ไปต่อได้" 
 

 

โฉมหน้า\"ครม.แพทองธาร\" สำคัญน้อยกว่า จุดขาย\"นายกฯ\" 

ตระกูลการเมือง มนต์ขลังหรือพลังถดถอย 


เนื้อหาตอนหนึ่ง ในหนังสือ  ตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง "มนต์ขลัง" หรือ (แค่) พลังที่ "ถดถอย" เขียนโดย "ดร.สติธร  ธนานิติโชติ" โดยตีพิมพ์เมื่อปี  2562  


"เนชั่นทีวี"  ขอนำเนื้อหาบางส่วนมาเสนอ  


การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตระกูลนักการเมืองไทย ตระกูลนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการรักษา สืบทอด และแผ่ขยายอาณาจักรทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา  

 

โดยเฉพาะ โดยการก่อตั้งและ/หรือเข้ากำกับควบคุมพรรคการเมือง ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ "ตระกูลชินวัตร" ซึ่งมีการวางรากฐานทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยของนายเลิศ  ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2512 และมีการส่งต่อความสำเร็จ มายังนายสุรพันธ์  ชินวัตร (น้องชายนายเลิศ) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 5 สมัย ( พ.ศ. 2522  2526  2529  2531 )

 

นอกจากนี้ สมาชิกของตระกูลชินวัตรยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาอีกหลายคน ได้แก่ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2544 (น้องสาวพันตำรวจโททักษิณ) นายพายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2548  (บุตรชายนายเลิศ) นางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ชังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2550 และ 2554 (บุตรสาวนางเยาวภา )

 

จากหนังสือ  ตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง "มนต์ขลัง" หรือ (แค่) พลังที่ "ถดถอย"

นายเชียง ชินวัตร 


นายเลิศ  ชินวัตร (อดีตสส.)      

 

นายสุรพันธ์  ชินวัตร  (อดีตสส. ) พี่น้องอีก 10 คน 


ทักษิณ  ชินวัตร (อดีตนายกฯ) เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (อดีตสส.) นายพายัพ  ชินวัตร  (อดีตสส.)  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (นายกฯ) พี่น้องอีก 5 คน 


สมชาย  วงศ์สวัสดิ์ (อดีตนายกฯ)   


น.ส.ชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์  (อดีตสส. )