svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน

23 สิงหาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค ขณะองค์กรการเมืองคะแนนดิ่ง รัฐบาลเศรษฐาสอบตก โจทย์ใหญ่รับ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน

โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
วิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้โชว์เดี่ยวบนเวทีของสื่อเครือเนชั่น ที่ พารากอนฮอลล์ เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 22 ส.ค.67 ในงาน Dinner Talk: Vision for Thailand นั้น 

แม้ด้านหนึ่งจะมีกระแสชื่นชมแนวคิดในการแก้ไขปัญหาประเทศ ซึ่งนำเสนออย่างเป็นระบบและทันสมัยระดับหนึ่ง 

แต่ในอีกด้านก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาเช่นกันว่า ท่าทีของอดีตนายกฯทักษิณ ไม่ต่างอะไรกับ “ผู้นำตัวจริง” ทั้งของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเพื่อไทย (ซึ่งอยู่ระหว่างการฟอร์ม ครม.ชุดใหม่อยู่พอดี) 

สอดคล้องกับทัศนคติของคนไทยผ่านการสำรวจของ “ไอเอฟดีโพล” ที่สรุปได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า..

“พรรคการเมืองไทยมีผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคที่กำหนดทิศทางและนโยบายพรรค และยังมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลด้วย”

โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน

รายละเอียดของการสำรวจยังพบว่า ประชาชนถึง 94% คิดว่าพรรคการเมืองที่มีผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคมากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย

รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย 92.57% 

ส่วนพรรคที่มีผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคน้อยที่สุดคือ พรรคประชาชน 68.07% 

น้อยรองลงมาคือ พรรคประชาชาติ 81.14% 

ผลสำรวจยังพบว่าประชาชน 55.94% เชื่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลถูกควบคุมโดยผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคที่เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ส่งผลทำให้ประชาชน 69.32% ไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่าจะทำสิ่งที่ถูกต้อง และ เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ”

สำหรับ “ไอเอฟดีโพล” เป็นสำนกวิจัยที่มีชื่อเต็มว่า ไอเอฟดีโพลแอนด์เซอร์เวย์ ของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา จัดทำการสำรวจในประเด็น “การเมืองไทยมีผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค” โดยเก็บข้อมูลความเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,251 ตัวอย่าง กระจาย 5 ภูมิภาค โดยวิธีสำรวจแบบลงภาคสนามและโทรศัพท์อย่างละ 50% ระหว่างวันที่  17-20 ส.ค.67
โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน

องค์กรการเมืองคะแนนดิ่ง โจทย์ใหญ่ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1”

มีคนพูดกันว่าการเปลี่ยนรัฐบาลรอบนี้ อาจนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นของประเทศไทย (หลังตกต่ำซ้ำๆ มาตลอดหลายปี) 

แต่เมื่อหันไปดูความหมายในทางรัฐศาสตร์ของคำว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” อาจทำให้รู้สึกสิ้นหวัง 

เพราะ “เสถียรภาพทางการเมือง” หมายถึง

  • สภาพที่ประเทศมีความมั่นคงในระบบการเมือง
  • การทำงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิผล
  • ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง
  • กลุ่มคนต่างๆในประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความสมานฉันท์

ขณะที่ปัจจัยซึ่งเอื้อต่อ “เสถียรภาพทางการเมือง” ได้แก่ 

  • การทำงานของรัฐที่มีประสิทธิผลอยู่บนพื้นฐานของการยึดมั่นในหลักนิติธรรม
  • ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมดี ไร้ความรุนแรง ไม่แบ่งแยก ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวกับ “เนชั่นทีวี” ว่า เมื่อพิจารณาความหมายและปัจจัยที่เอื้อต่อ “เสถียรภาพทางการเมืองแล้ว” เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยยังอยู่ห่างไกล หนำซ้ำเมื่อถามถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ จะพบบรรยากาศที่ประชาชนเฝ้ารอหลายสิ่ง แต่ยังไม่ได้ดังหวัง
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา
“รัฐบาลเศรษฐา” สอบตก 
จากการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็คือรัฐบาลเศรษฐา ยังมีประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดอยู่หลายประเด็น เช่น 

  • เรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
  • ราคาน้ำมัน  
  • เรื่องยาเสพติด 
  • เรื่องผู้มีอิทธิพล 
  • เรื่องการทุจริต 
  • การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้ 
  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผลสำรวจชี้ชัดว่า ประชาชนมีความรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการใส่ใจมากนักในปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้มองไม่เห็นผลงานของรัฐบาลเศรษฐา 

จริงๆ แล้วในภาคการเมือง รัฐบาลเป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด เคยได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนโดยภาพรวมเมื่อ 22 ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับร้อยละ 69 แต่ระยะหลังเหลือเพียงร้อยละ 20.2 หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลเศรษฐา

มาในปี 2566 เมื่อรัฐบาลเศรษฐามีโอกาสทำงานไประยะหนึ่ง กระทั่งถึงปี 2567 คือปีนี้เอง ผลการสำรวจพบว่าคะแนนความเชื่อมั่นโดยภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 37.9 นั่นคือเพิ่มขึ้นมา ถึงร้อยละ 17.7 แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจอยู่ดี เพราะได้คะแนนยังไม่ถึงครึ่ง กระทั่งรัฐบาลเศรษฐาต้องยุติการทำหน้าที่ไป 
นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
กองทัพคะแนนวูบ 
ขณะที่ความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองต่างๆตกต่ำอย่างมาก โดยจากการศึกษาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ของสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในอดีต หรือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 18 ถึง 25 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อมั่นในสถาบันทหารสูงที่สุด 

กล่าวคือในปี 2544 เชื่อมั่นทหารสูงถึงร้อยละ 81.4 และประชาชนกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นทหารสูงสุด สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ 

แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว คนกลุ่มนี้ซึ่งปัจจุบันนี้อายุประมาณ 30 ถึง 40 ปี มีความเชื่อมั่นในสถาบันทหารเพียง 13.5% เท่านั้น
โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
กกต.ร่อแร่ 
อาจารย์ถวิลวดี เผยผลสำรวจต่อว่า สถาบันการเมืองที่น่าสนใจอีกสถาบันหนึ่ง ก็คือองค์กรอิสระ 

ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าได้ทำการศึกษาหลายองค์กร แต่ขอกล่าวถึงองค์กรที่สำคัญมากและเป็นที่จับตาของประชาชนที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

เมื่อ 22 ปีที่ผ่านมาคะแนนนิยมหรือความเชื่อมั่นขององค์กรนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่สองทศวรรษผ่านไปคะแนนนิยมเหลือเพียงร้อยละ 25.7 ลดลงกว่าร้อยละ 40 

ขณะที่กลุ่มประชาชนที่เชื่อมั่น กกต.ต่ำสุดก็คือคนรุ่นใหม่ ทั้งๆ ที่ในอดีตคนรุ่นใหม่จะเชื่อมั่นกกต. ในระดับร้อยละ 68 และกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคนั้น ในเวลาต่อมาพวกเขาก็เปลี่ยนใจเหลือคะแนนความเชื่อมั่นให้ กกต.ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
“อปท.-ท้องถิ่น” ได้ใจประชาชน
อาจารย์ถวิลวดี ขมวดปมทิ้งท้ายว่า ประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษาของสถาบันปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี 2567 พบว่าสถาบันที่มีคะแนนสูงกว่าสถาบันรัฐอื่นๆ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.

เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูงถึงร้อยละ 72.7 ซึ่งสูงกว่า สส. สูงกว่าสถาบันพรรคการเมือง สูงกว่าวุฒิสภา สูงกว่ารัฐบาล และสูงกว่านายกรัฐมนตรี

นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกพอใจต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดกับพวกเขา

ตรงกันข้ามกับสถาบันการเมืองสำคัญก็คือรัฐสภาที่ได้คะแนนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะวุฒิสภา ประชาชนเชื่อมั่นร้อยละ 35.7 สภาผู้แทนราษฎรร้อยละ 46.3 ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษา สว.ชุดใหม่ ไม่ใช่ชุดใหม่ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “สว.สายสีน้ำเงิน”
โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
“อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
อาจารย์ถวิลวดี แจกแจงอีกว่า ในส่วนของรัฐสภา เป็นสถาบันที่ความเชื่อมั่นไม่สูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับสถาบันอื่นเพราะเมื่อ 22 ปีที่แล้วความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ประมาณร้อยละ 59 

ขณะที่ความเชื่อมั่น 22 ปีให้หลัง คือปัจจบันนี้ เหลืออยู่ที่ร้อยละ 29.3 เท่านั้น และแน่นอนว่าความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองเหล่านี้ต่ำสุดก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่

จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของวิกฤติความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมือง ที่เป็นโจทย์ใหญ่ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งดำเนินการสร้างผลงานให้เป็นที่ศรัทธากับประชาชน เพราะรัฐบาลจะไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์แม้แต่วันเดียว
โพลชี้ยี่ห้อ “เพื่อไทย” ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน

logoline
News Hub