svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พรรคประชาชนเสี่ยงพัง! ระวัง “ระบบนายใหญ่”

“พรรคประชาชน” เสี่ยงพัง! ระวัง “ระบบนายใหญ่” กูรูการเมือง วิเคราะห์ 5 ประเด็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ เกิด-ดับ

“ถ้าพรรคประชาชนจัดความสัมพันธ์กับคณะก้าวหน้าไม่ดี จะมี 'นายใหญ่' เหมือนเพื่อไทย แถมอาจจะหนักกว่าเพื่อไทย เพราะมี “นายใหญ่” หลายคน กลายเป็นคณะโปลิตบูโร” 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ความท้าทายของพรรคประชาชน มี 5 ประเด็นด้วยกัน 

1.การจัดกรเรื่องธุรการ 

การย้าย สส.ก้าวไกลเดิมเข้าบ้านใหม่ ไม่มีปัญหา แต่บ้านใหม่จะเปลี่ยนชื่อจาก “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” เป็น “พรรคประชาชน” ไม่ได้จบในวันเดียว แต่มีกระบวนการของ กกต.ที่จะต้องประกาศรับรองด้วยว่า สามารถใช้ชื่อพรรคประชาชนได้เมื่อไหร่ 

แต่ปัญหาคือ เลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก แทน “รองอ๋อง - ปดิพัทธ์ สันติภาดา” กกต.ต้องประกาศจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ถ้าประกาศกำหนดวันเลือกตั้งเร็ว พรรคประชาชนจะส่งผู้สมัครทันในนามพรรคใหม่หรือไม่ และต้องไม่ลืมว่า ผู้สมัครที่จะส่งลงสู้ศึกได้ ต้องเป็นสมาชิกพรรคครบตามเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย ซึ่งไม่ใช่กรณียุบสภา จึงต้องสังกัดพรรคนานกว่า ถึง 90 วัน

ความเป็นไปได้ตอนนี้ คือส่งผู้สมัครได้ในนามพรรคถิ่นกาขาวฯ แต่ประเด็นคือ ใช้คนของก้าวไกลจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ จะถือว่าเสียหน้า เพราะสะท้อนถึงระบบบริหารจัดการที่กลายเป็นข้อจำกัด ทั้งๆ ที่เคยเป็นจุดแข็งของพรรค ตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่เป็นต้นมา หนักกว่านั้นหากส่ง สส.สู้ศึกไม่ทันเลย จะยิ่งเสียหายมากขึ้นไปอีก 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

2.ความสัมพันธ์ระหว่างคณะก้าวหน้า กับพรรคประชาชน

แบ่งเป็น 2 ฉากทัศน์

  • คณะก้าวหน้ามีแกนนำไปเติม คือแกนนำจากพรรคก้าวไกลเดิมที่ถูกตัดสิทธิ์ และคณะก้าวหน้ามักทำกิจกรรมควบคู่กับพรรคที่เปิดหน้าอยู่แล้ว ปัจจุบันคือพรรคประชาชน

การทำกิจกรรมร่วมกัน กรณีแกนนำจากพรรคก้าวไกลเดิม อาจมีความเสี่ยงถูกร้องซ้ำให้ยุบพรรคประชาชน เพราะแกนนำที่ไปจากก้าวไกล มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตราเอาไว้

  • อาจเกิดระบบ “นายใหญ่” ในพรรคประชาชน เพราะผู้นำจิตวิญญาณ แกนนำ เซเลบ ล้วนแห่ไปอยู่แถวหลังกันหมด ทุกคนย่อมต้องการแสดงบทบาท และต้องมีพื้นที่ มีอาณาจักร เป็นธรรมชาติของการเมือง ฉะนั้นถ้าจัดความสัมพันธ์ไม่ดี อาจมี “ระบบนายใหญ่” เกิดขึ้นเหมือนเพื่อไทย แถมจะหนักกว่าด้วย เพราะมีนายใหญ่หลายคน เป็น “โปลิตบูโร” 

หนำซ้ำ “โปลิตบูโร” ก็อาจมีหลายปีก คิดไม่ค่อยเหมือนกันด้วย 

เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน

3.คดีมาตรฐานจริยธรรมใน ป.ป.ช. จะสู้อย่างไรให้รอด  

เพราะทุกคดีที่ต่อสู้กับองค์กรอิสระแพ้ตลอด เรื่องนี้โทษศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากให้นักกฎหมายเก่งๆ ดูวิธีการต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล จะพบว่าทีมกฎหมายไม่เก่งมากพอ ศาลหักล้างได้ทุกข้อที่ยกขึ้นมาต่อสู้  

4.ความหลอนของ สส. จากคดียุบพรรคที่โดนไปแล้ว และคดีมาตรฐานจริยธรรมที่กำลังจะตามมา

งานนี้ต้องยอมรับว่า  แกนนำก็หลอน 

คำถามคือ แรงฮึดที่จะสู้ต่อมีแค่ไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกคนที่เป็น สส. ย่อมไม่อยากมีคดี ไม่อยากโดนตัดสิทธิ์ ส่วนแกนนำที่หลุดไปแล้ว ไม่ได้เป็น สส.แล้ว หรือโดนตัดสิทธิ์แล้ว ก็แรงได้เต็มที่ และจะพยายามเล่นบท “นายใหญ่” ขับเคลื่อนอุดมการณ์ตัวเองอีก ถามว่า สส.จะว่าอย่างไร เต็มใจสู้ต่อเหมือนกันหรือไม่ 

ยิ่งถ้าเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งนายก อบจ.ไม่ชนะทุกสนาม หรือแพ้เป็นส่วนใหญ่ ขวัญกำลังใจจะยิ่งเสีย

5.การสนองตอบต่อ “กลุ่มผู้นำจิตวิญญาณ”

ซึ่งยังเต็มไปด้วยพลังและอุดมการณ์ แต่ถูกผลักไปอยู่แถวหลัง อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในพรรคประชาชน จะมีแกนนำยุคปัจจุบัน และ สส.เห็นต่างหรือไม่ เช่น

  • กลุ่มปิยบุตร เอาแบบหนึ่ง 
  • กลุ่มธนาธร เอาอีกแบบหนึ่ง 
  • กลุ่มพิธา เอาแบบไหน 

ผู้บริหารใหม่ หัวหน้าเท้งที่ต้องดูแลลูกพรรค จะทำอย่างไร 

ด้านหนึ่งก็ต้องรักษา สส.เอาไว้ แต่อีกด้านก็ต้องทำให้อุดมการณ์ของบรรดา “ตัวตึงแถวหลัง” เป็นจริงให้ได้ด้วย จึงเป็นความต้องการที่ย้อนแย้ง และสุ่มเสี่ยงสร้างความขัดแย้งด้วยเหมือนกัน 

รศ.ดร.ธนพร ทิ้งท้ายด้วยว่า หากแก้โจทย์ความท้าทายทั้งหมดนี้ไม่ได้ โอกาสที่พรรคประชาชนจะแลนด์สไลด์ หรือประสบความสำเร็จทางการเมืองมากกว่าก้าวไกล ย่อมเป็นไปได้ยาก และเพื่อไทย กับ “นายใหญ่” คงไม่ปล่อยให้พรรคใหม่ของก้าวไกล เติบโตไปง่ายๆ เนื่องจากเดิมพันก็ใหญ่พอกัน นั่นก็คือ ว่าที่นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ชินวัตร